MQA จะพัฒนาไปทิศทางใด
ปี 2019 ที่เพิ่งผ่านไปถือเป็นปีเริ่มต้นของ MQA อย่างแท้จริง แม้ว่า MQA จะออกมาตั้งแต่ปี 2014 แล้วก็ตาม แต่มันยังคงจำกัดอยู่ในวงแคบ แต่เพิ่งจะเข้ามามีบทบาทต่อเหล่าออดิโอไฟล์และผู้ที่รักเสียงเพลงอย่างแท้จริงก็เมื่อปี 2019 นี้เอง โดย MQA ได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการเพลงออนไลน์หลาย ๆ รายเพื่อให้ได้คุณภาพเสียงตามที่สตูดิโอบันทึกไว้ นอกจากนี้ ผู้ผลิตเครื่องเสียงและอุปกรณ์เครื่องเสียงต่างก็เพิ่มเติมภาคถอดรหัส MQA เข้าไปไว้ในเครื่องเสียงรุ่นใหม่ของตัวเอง และยังผลิตเครื่องถอดรหัสเฉพาะ เป็นต้น ในขณะที่ด้านซอฟต์แวร์เอง ก็มีหลายรายเริ่มวางแผ่นซีดีที่เป็น MQA-CD
ประเด็นที่ต้องขอย้ำคือ การถือกำเนิดของ MQA เมื่อ 5 ปีก่อนเป็นการออกมาเพื่อแก้ปัญหาในช่วงนั้นที่การบริการสตรีมมิ่งออนไลน์ยังมีแบนด์วิธที่ค่อนข้างจำกัด ไม่สามารถสตรีมไฟล์เพลงแบบไฮเรสได้อย่างราบรื่น คุณภาพเสียงที่ได้จริง ๆ ก็แค่ระดับ CD เท่านั้น โดย MQA สามารถช่วยให้ไฟล์เพลงความละเอียดสูง ๆ เช่น 32bit/384kHz. บีบอัดขนาดไฟล์ลงมาเหลือแค่ 1 ใน 8 ของขนาดเดิมทำให้ไฟล์เพลงไฮเรสสามารถสตรีมได้อย่างราบรื่นและคงไว้ในคุณภาพใกล้เคียงกับเสียงเดิม
ขณะที่ 5G เริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในหลาย ๆ ประเทศในปี 2019 เช่นกั จากข้อมูลการทดสอบของห้องปฏิบัติการนั้น การดาวน์โหลดไฟล์ขนาด 1 GB. จะใช้เวลาแค่ 4 วินาที นั่นหมายความว่า ไฟล์เพลงไฮเรส 24bit/384kHz. โดยปรกติจะมีขนาดไม่ถึง 1 GB. ก็จะใช้เวลาดาวน์โหลดเพียง 2-3 วินาที เมื่อเป็นเช่นนี้ เรายังจำเป็นต้องใช้ไฟล์แบบบีบอัดอีกไหม หรือว่าจะดาวน์โหลดไฟล์ไฮเรสโดยตรงเลย นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่อยู่ในวงการเพลงกล่าวว่า อนาคต MQA จะกลายเป็นฟอร์แมตมาตรฐานของไฟล์เพลงฟอร์แมตต่าง ๆ เช่น FLAC, ALAC, APE และยังมีคนกล่าวถึงขั้นจะมาทดแทนไฟล์ DSD ด้วยซ้ำไป สรุปแล้ว MQA จะพัฒนาสู่ทิศทางไหนกันแน่
ในความเห็นส่วนตัวแล้ว ถ้าหากความเร็วในการดาวน์โหลดของ 5G เป็นไปตามช้อมูลดังกล่าวข้างต้น ก็น่าจะใช้ไฟล์ไฮเรสโดยไม่ผ่านการบีบอัดดีกว่า แม้ว่าไฟล์บีบอัดที่ผ่านการถอดรหัส MQA จะคืนสภาพเหมือนกับไฟล์เพลงไฮเรสก็ตาม แต่ความหนาแน่นของข้อมูล และไดนามิกยังห่างไกลจากไฟล์ไฮเรสต้นฉบับโดยตรง โดยเฉพาะในย่านความถี่ 20kHz ขึ้นไป ดังนั้น เมื่อถึงยุคที่เปิดใช้ 5G อย่างแพร่หลายแล้ว คุณยังคิดจะใช้ MQA อีกหรือไม่
ส่วนคำถามที่ว่า MQA-CD จะกลายเป็นกระแสหลักสำหรับแผ่นซีดีคุณภาพสูงหรือไม่นั้น ประเด็นนี้น่าสนใจ ถ้าหากเราย้อมหลังกลับไปจะเห็นว่าเราพยายามพัฒนาแผ่นที่ให้คุณภาพเสียงดีกว่าซีดีธรรมดา เราจึงเห็นตั้งแต่ HDCD จนถึง SACD และเรายังมีแผ่น DVD-Audio และ Blu-ray Pure Audio มาคั่นรายการในบางจังหวะ แต่ในบรรดาฟอร์แมตทั้งหลายนอกจาก HDCD และ SACD แบบ double layer ที่สามารถเล่นกับเครื่องเล่นซีดีปกติได้แล้ว นอกนั้นล้วนตั้งใช้เครื่องเล่นเฉพาะ ฟอร์แมตเหล่านี้จึงไม่สามารถเข้ามาทดแทนซีดีได้จนทุกวันนี้
แต่ MQA-CD กลับสามารถเล่นกับเครื่องเล่นซีดี หรือ transporter ได้เลย เพียงแค่เพิ่มเครื่องถอดรหัส MQA ก็สามารถเพลิดเพลินกับคุณภาพเสียงระดับสตูดิโอได้แล้ว และปัจจุบันก็มี MQA-CD ออกมาเรื่อย ๆ อย่าง Close to You ของ Susan Wong หรือเพลงจีนอย่าง DR Classics หรือล่าสุดก็ผลงานของเฉินเจีย ในชุด “We meet again, Teresa Teng” (บ้านเราน่าจะรู้จักนักร้องคนนี้ดี เพราะผลงานชุดนี้ได้ออกมาหลายฟอร์แมตทั้งซีดีและไวนิล) และก็เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะมีค่าอื่น ๆ ทยอยออกแผ่น MQA-CD อย่างไม่ขาดสายแน่นอน และน่าจะได้รับการยอมรับจากคนเล่นเครื่องเสียงได้โดยไม่ยาก แต่ปัญหาที่น่าขบคิดคือ เมื่อมีการใช้อินเทอร์เน็ต 5G อย่างแพร่หลายแล้ว และสมมติว่าถึงเวลานั้นคนส่วนใหญ่เลือกที่จะสตรีมเพลง High-Res แบบไม่บีบอัดโดยตรงเลย MQA-CD จะยังคงมีที่ว่างในหมู่พรีเมี่ยมซีดีอีกต่อไปหรือไม่
แต่ไม่ว่า MQA จะพัฒนาต่อไปในทิศทางไหนก็ตาม เชื่อว่าสิ่งที่คนเล่นเครื่องเสียงต้องการเป็นอย่างยิ่งคือ ฟีเจอร์ “รับรอง” ว่าเพลงที่กำลังฟังนั้นเป็นตัวมาสเตอร์จริง ๆ เพราะปัจจุบันนี้มีเพลงไฮเรสจำนวนไม่น้อยที่อ้างว่าเป็นตัวมาสเตอร์ ซึ่งไม่เว้นแม้แต่ไฟล์ DSD ที่บอกกันว่าปลอมไม่ได้ก็ยังมี (ลองหาโปรแกรมเก่ง ๆ แล้วเอาไฟล์ MP3 มาแปลงดูก็ได้) ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรายากที่จะแยกแยะได้ว่าอันไหนแท้อันไหนปลอม ดังนั้น การรับรองแหล่งที่มาจึงมีความสำคัญมาก MQA เองมีการฝังรหัสเรื่องลิขสิทธิ์และลายเซ็นดิจิตอลไว้ในแผ่นอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าหาก MQA สามารถกลายเป็นฟอร์แมตมาตรฐานได้ ปัญหานี้น่าจะหมดไปได้ ซึ่งฟีเจอร์ตัวนี้สามารถระบุได้ว่าไฟล์ที่โอนให้กัน ก็อปปี้แลกเปลี่ยนนั้น ระหว่างทางถูกแก้ไขมาหรือไม่ แต่ในความสมบูรณ์ก็ยังมีความไม่สมบูรณ์อยู่ เพราะมันไม่สามารถระบุปัญหา ณ เวลาผลิตจากต้นทางได้
ดังนั้น ในความเห็นส่วนตัวแล้วคิดว่า ในอนาคตเมื่ออินเทอร์เน็ตสามารถรองรับการสตรีมไฟล์เพลงไฮเรสโดยไม่ต้องบีบอัด นักฟังเพลงส่วนใหญ่คงเลือกที่จะสตรีมโดยตรงและไม่จำเป็นต้องพึ่งพา MQA อีกต่อไป ส่วนนักฟังเพลงทั่วไปที่ยังนิยมฟังแบบออฟไลน์ก็น่าจะยึด MQA-CD เป็นตัวหลักเนื่องจากความสามารถเข้ากันได้กับเครื่องเล่น CD ทั่วไป และมันจะเข้าไปทดแทนแผ่นประเภท SACD และ Blu-ray Pure Audio อย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนฟีเจอร์การ “รับรอง” แหล่งที่มานั้น จะพัฒนาได้สมบูรณ์แค่ไหน เวลาเท่านั้นเป็นเครื่องพิสูจน์
ภาพจากอินเทอร์เน็ต
ที่มา Chaophraya Forum