The Art of Speaker Design Chapter13

0
1815

The Art of Speaker Design
Chapter13

การทดสอบลำโพงประวัติศาสตร์ Bose 902 SeriesVI

และแนววิถีของBose ในปัจจุบัน

จากการเริ่มต้นทดลองฟังแบบยังไม่ได้ลงหลักปักฐานจริงๆ ผมเริ่มใช้แผ่นคลาสสิกหลายหลากแผ่นทดสอบ โดยเริ่มจากซิมโฟนีหมายเลขเก้าของ บีโธเฟน เป็นอันดับแรก Beethoven : Symphony No.9/ Karajan, Berlin Philharmonic Orchestra แล้วค่อยๆไล่เรียงสู่โมซาร์ต Mozart : Symphonien Nos. 35-41 และไปสิ้นสุดที่วอลต์ของ โยฮันน์ สเตราท์ ในเพลงรักมากๆ On Beautiful Blue Danube Waltz Op.314 เป็นเพลงที่บ่งบอกความงดงามของดนตรีที่บรรยายสายน้ำหลากไหลหลายอารมณ์ที่ดีที่สุด ซึ่งประพันธ์ขึ้นในปี ค.ศ.1866 และนำออกแสดงครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1867 ที่สมาคมนักร้องประสานเสียงแห่งเวียนนา แต่การฟังครั้งนี้ใช้แผ่นของ Talarc ชุด Ein Straussfest ทั้งหมดนี้ก็ด้วยเหตุที่ว่า 
ผมเคยฟังเพลงเพลงประเภทนี้ เพลงเหล่านี้กับลำโพงระดับไฮเอนด์มานานแสนนานรวมถึง Bose 901 Series II เมื่ออดีตกาลนั่นเอง งามกว่าคำพูด ต้องบอกเช่นนั้น เสียงอิ่มอุ่นของเครื่องดนตรีในหมู่ของไวโอลิน การเดี่ยวที่เรียกอารมณ์ได้อย่างมา และช่วงโหมกระหน่ำที่ให้ความเอิบอาบไปทั้งกายและใจ
นี่คือการพิสูจน์ว่าลำโพง Bose 901 Series VI นั้น มีการปรับปรุงพัฒนามากขึ้น และได้ค่าไดนามิกเรนจ์กว้างขวาง ได้บรรยากาศคล้ายการฟังในฮอลล์ขนาดใหญ่
ผมเริ่มปรับหู อารมณ์ ตนเองให้ง่ายเข้า ด้วยเพลง Pop ที่แสนจะธรรมดาที่เรานิยม ฟังกัน เช่น Hunter ของเจนนิเฟอร์ วอร์น และไปเน้นๆ เนื้อๆ ที่เพลง Spanish Harem ของ รีเบคก้า พีเจนด์ การฟังเพลงที่ดีที่สุดคือการพักผ่อนเช่นนั้นเอง โบสได้นำเสนออย่างเรียบๆ ง่ายๆ ไร้ซึ่งพิธีรีตองใดๆ 
เสียงร้องที่ไม่น่าจะหลุดลอยออกมาด้านหน้าได้ในความคิดคำนึงของเราก็ผ่านทะลุออกมาจากม่านดนตรีได้อย่างทะลุปรุโปร่ง คือใจมักจะต้องไปพะวงว่าลำโพงหันหลังให้คนฟัง ส่งเสียงตั้ง 89 เปอร์เซ็นต์ให้กับผนังนั้นเค้าจะให้เสียงร้องดีมั๊ย? 
คราวนี้หายสงสัยอีกครั้งหลังจากเคยฟังมานานแสนนาน แล้วกับโบส 901 เป็นความน่าพิศวงกับการออกแบบลำโพงของต้นตำรับ ดร.อมาร์ จี. โบส โดยแท้ แม้จะผ่านการท้าทายและกาลเวลามาเนิ่นนาน มันยังอมตะและจริงจังเสมอมา เป็นสิ่งที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงในรูปแบบของลำโพงไฮไฟในปัจจุบัน
เสียงต่ำมีความเป็นตัวตนแค่ไหน ผมลองได้ง่ายมากจากเพลงที่แสนธรรมดา เมื่องวงฟองน้ำไปบันทึกเพลงชุดนี้แล้วทำแผ่นมาสเตอร์ในญี่ปุ่น เพลงไทยเดิมๆ ของเรานี่ละ ในชุด Fong Naam ต้น วรเชษฐ์ 13.58 เสียงต่ำลึกแบบเป็นชิ้นอันหลุดลอยออกมาแบบว่ากระหึ่มแน่นลึกสมจริงน่าประหลาดใจ 
เหมือนขยับเข้าไปใกล้หน้าเวทีดนตรีเข้าไปอีก ไม่เคยฟังเพลงชุดดังกล่าวแล้วได้เสียงต่ำลึกขนาดนี้ มันลอยเด่นทะลุหน้าถึงหลัง ครอบคลุมอาณาบริเวณที่ฟังเพลงแบบไม่เหลือให้เราสมมติฐานขนาดของตู้ลำโพงได้อีกเลย หมายความว่าทุกเสียงทุกย่านความถี่ ลอยเด่นแบบไร้ขอบเขตตู้อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะความถี่ต่ำที่มีความอิสระของมันอย่างสูงเด่นยิ่ง
การฟังเพลงทั่วไป ต้องเรียกว่านี่เป็นครั้งแรกที่เราจะพูดว่าลำโพงที่ “ไม่มีข้อจำกัดในการฟัง” ไม่ว่าจะเป็น พ็อพ แจ๊ซ ไลท์มิวสิค คลาสสิก คันทรี เพลงไทยทุกประเภท สามารถที่จะฟังได้กับ Bose 901 Series VI โดยไร้กังขา
ให้ลักษณะเสียงที่หนักแน่น อิ่ม สมจริง ผมชอบที่เสียงร้องเด่นออกมาในขณะที่เสียงดนตรีดูว่ามีศักยภาพ การให้เวทีเสียงโอบล้อมเวทีที่นักร้องกำลังส่งเสียง สำเนียงเจื้อยแจ้วของเขาได้อย่างเหมาะสม และเรื่องเวทีเสียงต้องชมเชยกันว่าสามารถให้ความรู้สึกที่โอ่โถงเหลือประมาณได้ Bose 901 Series VI ใช้ได้ในห้องขนาด 15 ตารางไปจนถึง 40 ตารางเมตรได้อย่างเต็มอิ่มฟังดนตรีราวกับ “ยกวง” มานำเสนอตรงหน้า
สิ่งที่ลำโพงคู่นี้ไม่เหมือนใครเลยคือ มันไม่ใช่ลำโพงที่คุณต้องตั้งหน้าตั้งตาเซ็ตอย่างซีเรียสไม่เป็นอันกินอันนอน แต่จะต้องเข้าใจวิธีการทำงานของลำโพงก่อนว่า เขาจะต้องใช้ระบบปรับแต่งอีควอไลเซอร์ของระบบเข้าทำการปรับแต่ง การปรับทั้งสองเทิร์นโอเวอร์ ฟรีเควนซี่ 
หรือพูดง่ายๆ คือจุดกลางในการปรับเสียงของปุ่มมิดเบส และมิดทรีเบิ้ลของลำโพงจะส่งผลต่อเสียงร้อง เสียงดนตรีในช่วงกลางไปพร้อมกับความย่านสูงและต่ำตามที่ท่านปรารถนาจะรับฟัง ดังนั้นตรงนี่เองเป็นสิ่งที่ต้องเติมมากขึ้น หรือลดลงให้ได้สัดส่วนพอเหมาะกับรสนิยม
การเซ็ตค่าของอีคิว ข้อแนะนำ คือให้ตั้งตรงจุดกลาง ก่งกลางนั่นละครับ แล้วค่อยๆปรับแต่ละส่วนไปทีละน้อยจนรู้สึกว่าทุกอย่างสมดุล หาเพลงที่คุ้นหูจะยิ่งง่ายเข้าไป การปรับนั้นขอบอกว่าไม่ได้ว่ากันครั้งเดียวจบนะครับ อาจจะฟังไปปรับไป เร่งลดระดับความดังไป ลองตัดย่านความถี่ต่ำลึกจากปุ่ม Bass Control ดูว่าเหมาะสมตรงไหน เพราะตรงนี้เกี่ยวข้องกับปริมาณและย่านความถี่ต่ำลึกพิเศษ แต่ก็ไม่ช้านานนักหรอก ที่คุณจะรู้สึกใช่เลย “ลงตัวแล้ว” 
ฟังเพลงอะไรก็ไม่ต้องปรับอีกต่อไป นั้นหมายความว่าการเซ็ตอัพจบลง แต่หากวันใดมีแผ่นเพลงพิสดารที่ย่านความถี่แตกต่างออกไปจากแผ่นที่เคยฟัง อยากจะปรับอีกก็ได้ ไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด อย่าลืมว่าค่ายเพลงแต่ละแห่ง แผ่นแต่ละสังกัดมักจะมีการตีความเสียงดนตรีของพวกเขาต่างจากกันเสมอ
จุดใหญ่ใจความที่ผมอยากจะกล่าวถึงมากที่สุดใน Bose 901 Series VI ก็คือ ความสามารถในการให้เสียง
สเตอริโอแบบ Everywhere หรือสรรค์สร้างเสียงแบบแยกแชนแนลสเตอริโอได้ทุกจุดตำแหน่งนั่งฟัง แม้ว่าจุดหลักอย่าง Sweet Spot ของเราที่ห่างลำโพงออกมาสองเมตรครึ่งจะดีที่สุด แต่หลายๆจุดตำแหน่งสามารถฟังการแยกแยะรายละเอียดเสียงดนตรีได้ดี 
เช่น คุณนั่งเบี่ยงมาทางลำโพงขวามากไป เสียงก็จะยังดีอยู่ ได้ยินการเปล่งเสียงลำโพงซ้ายเสียงดนตรีที่เป็นเวทีเสียงชัดเจน ต่างจากลำโพงทั่วไปที่ว่าเราจะรู้สึกเอียงข้างไปทางขวาทันที แต่ 901 Series VI กลับไม่เป็นเช่นนั้น นั่นละที่เรารู้สึกได้ว่าคือความพิเศษ คล้ายกับการได้ฟังที่เวทีคอนเสิร์ตมากทีเดียว ที่
ด้วยขนาดของตู้ลำโพง คุณจะไม่มีวันคิดว่า Bose 901 Series VI นี้ให้เสียงต่ำ และเวทีเสียง “มหึมา” ได้ราวกับได้ฟังจากฮอลล์ขนาดใหญ่ 
ดอกลำโพงเป็นแบบฟูลเรนจ์เสียงแหลมช่วงปลายจะไปได้สูงจริงหรือเปล่า? 
ลองฟังดูเถิดครับรายละเอียดหยุมหยิมก็สามารถให้คุณได้จนถึงช่วงปลายสุดเสียงแหลมเช่นกัน 901 ช่วยบอกเราว่า หลายวิถีทางที่จะไปสู่ดนตรีที่ละเอียดอ่อนได้ ซึ่ง Bose 901 Series VI คือหนทางหนึ่งที่พิสูจน์ตัวเองมาตั้งแต่ปี 1968 จวบจนปัจจุบัน
คุณอยากได้เสียงที่ดี หมายถึงไดนามิกที่กว้างขวาง ย่านความถี่ที่ครบครันพลังมหาศาล ใกล้เคียงการแสดงดนตรีสด ฟังเพลงได้ไม่จำกัดสไตล์ นี่แหละคือ ลำโพงที่คุณควรจะต้องฟัง แล้วจะเกิดความรู้สึกว่า “ไร้ข้อกังขา” ในความเป็นอมตะของมันตราบทุกวันนี้
ความน่าสนใจคือ หลังจากมีการพัฒนาที่ยาวนานBose ได้เริ่มเปลี่ยนแนวทางมาดีไซน์ ลำโพง เครื่องเสียง ทั้งระบบครอบคลุมทั้งProfessional Home Audio Video Lifestyle System 
อันเป็นการเปลี่ยนแปลงจากยุค1980 อย่างใหญ่หลวง วิศวกรรมเสียง หลายประการ ที่กำเนิดขึ้นแบบ ยิ่งเล็กยิ่งเสียงดี ก็ปรากฏต่อ สายตาชาวโลก
นับได้ว่า เทคโนโลยีของโบสจะบ่งชี้ยุคสมัยที่ก้าวหน้าไปในฐานะผู้นำความบันเทิงทางเสียง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ติดตาม Chapter14 B&W แห่งอังกฤษ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here