The Art of Speaker Design Chapter 17

0
2051

The Art of Speaker Design Chapter 17


Test Report B&W Nautilus


ขอเรียนก่อนว่า ลำโพงB&W Nautilus นั้น จะเป็นลำโพงที่นอกจากจะออกแบบฉีกแนวทางด้านกายภาพ เหมือนก้นหอยม้วนเป็นวง แล้ว ก็ยังใช้ระบบลำโพงแบบแอ็คทีฟว์ 
หมายถึงการใช้งานของมันจะต้องมีแอมปลิไฟร์ขับผ่านระบบอิเล็คทรอนิกครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์ก ตัดแบ่งความถี่ให้ไดรเวอร์แต่ละตัว อย่างเป็นอิสระ ดังนั้นหากคิดให้รอบคอบก็จะรู้ว่า ผู้ดีไซน์ต้องการให้แอมปลิไฟร์เป็นหนึ่งในระบบลำโพงที่มิอาจแบ่งแยกอย่างเด็ดขาด การคัดสรร ปรีแอมป์ เพาเวอร์แอมป์จึงต้องเป็นไปตามข้อกำหนด

ลำโพงคู่นี้ไม่อนุญาตให้ใช้สายลำโพงอื่นใดภายนอก

สายลำโพงที่ใช้ในระบบ ถูกเลือกให้มีขนาดเล็กและใช้วัสดุเป็นเงินควั่นเกลียวอย่างดี ยาวประมาณเส้นละ8ฟุต แยกรหัสสีสำหรับการเชื่อมต่อกับแอมปลิไฟร์แต่ละแชนแนล(แต่ละตัวขับความถี่)

สายลำโพงถูกรวบยอดให้ออกมาจากตัวลำโพงโดยตรง ไม่มีการใช้ขั้วต่อใดๆภายนอก อันอาจจะก่อผลต่อคุณภาพเสียงที่เปลี่ยนแปลงไปจากสภาพแวดล้อม คงเป็นที่ขัดอกขัดใจ ออดิโอไฟล์หัวเก่าบางคนที่ว่า ทำไมไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนสายลำโพงล่ะ?

ซึ่งบางท่านอาจะลืมวรรคแรกที่ผมบอกไว้เบื้องต้นว่า ก็เพราะเขาดีไซน์ให้สายลำโพงเสมือนสายไวร์ริ่งภายใน ไม่จำเป็นต้องเส้นใหญ่เหมือนงูเหลือม แต่มีคุณภาพดีเยี่ยมเหมาะสมสำหรับแอมป์ที่จะต้องมาหลอมรวมระบบกับลำโพงเป็นแอ็คทีพว์ซิสเต็มนั่นเอง
ส่วนการต่อสายอื่นๆ จากแหล่งโปรแกรมมาหา ปรีแอมป์ เพาเวอร์แอมป์ในลักษณะอินเตอร์คอนเน็ค จะเลือกสายใดๆก็แล้วแต่ความพึงใจ ซึ่งผมขอบอกว่าไม่จำเป็นต้องคิดมากหรือโอเวอร์จนปวดหัว

แต่ควรคำนึงถึงคุณลักษณะและระดับชั้นของลำโพงเป็นสำคัญ พูดง่ายๆ สายต้องดีและมีความเป็นกลางมากที่สุด การต่อผ่านระบบ อิเล็คทรอนิกส์ หรือแอ็คทีพว์ครอสโอเวอร์ของลำโพง แยกเครื่องมาให้ทั้งซ้ายและขวา เพื่อให้มีความอิสระเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ มันทำให้ผมนึกถึงการเล่นเครื่องเสียงระบบไบแอมป์ ไทรแอมป์ ควอดแอมป์ในยุคไฮเอ็นด์และอนาล็อกเฟื่องฟูขึ้นมาเหมือนกัน

การให้ความสำคัญย่านความถี่เสียงกลางแหลมมากเป็นพิเศษของNautilusก็เพราะย่านความถี่ช่วงนี้ ต้องการความบริสุทธิ์ของเสียง “อย่างถึงที่สุด” ครอสโอเวอร์จึงแยกช่วงความถี่ให้กับลำโพงเป็นเสมือนQuad Amplification แยกขับแบบสี่ทาง คือLF: Low Frequencyความถี่ต่ำ, LMF :Lower Midrange Frequencyความถี่กลางต่ำ, UMF :Upper Midrange Frequency ความถี่กลางสูง ,HF: High Frequencyความถี่สูง

หากจะให้เข้าใจง่ายขึ้นเราก็ต้องดูตัวขับเสียงที่แยกจากกันในโครงสร้างของNautilus ก็คือ ช่วงความถี่เสียงสูงนั้นจะใช้ทวีตเตอร์โดมโลหะจำนวน 2 ตัว ตัวหนึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 50 มิลลิเมตร รองรับภาระครอบคลุมช่วงความถี่ตั้งแต่ 880 Hz ขึ้นไป จนถึง 3.5 kHz และอีกตัวหนึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 25 มิลิเมตร ทำหน้าที่ขับช่วงความถี่ตั้งแต่ 3.5 kHz ขึ้นไปจนถึง 25,000 Hz

ในขณะที่ช่วงความถี่เสียงกลาง จะใช้ตัวขับแบบเรียบแฟล็ต จากความถี่เสียง 220 Hz จนถึง 880 Hz เพื่อหลีกเลี่ยงอาการเรโซแนนซ์ต่อตัวตู้ อย่างที่พบในตัวขับเสียงทรงกรวยทั่วไป ระบบแม่เหล็กซึ่งใช้วัตถุธาตุหายาก มีการเจาะรูที่ขั้วแม่เหล็ก เพื่อให้มวลอากาศด้านหลังไดอะแฟรมเคลื่อนไหวโดยอย่างปราศจากแรงต้านทานไหลผ่านสู่ท่อกลวง

ในส่วนของช่วงความถี่เสียงต่ำใช้ตัวขับเสียงแบบอะลูมิเนียมขึ้นรูปชิ้นเดียวหนา 250 ไมครอน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 300 มิลลิเมตร ที่ โดมตรงกลางครอบคลุม ความถี่ไปได้ไกลถึงกว่า 1.5 kHz เป็นตัวขับเสียงต่ำที่มีแม่เหล็กขนาดใหญ่หนักถึง 9.5 กิโลกรัม

เมื่อเห็นขนาดกับรูปทรงพิสดารของมัน เราคิดว่าการขยับขยายที่วางลำโพงดูเหมือนจะยาก แต่จริงๆกลับทำได้ง่าย เนื่องจาก Nautilus ไม่มีเดือยแหลมจิกลงพื้นเหมือนลำโพงอื่น ตัวฐานแท่นสี่เหลี่ยม ที่ออกจะหนักอึ้งเพียงชิ้นเดียว ซึ่งเป็นฐานรากยึดกับพื้นที่ขยับไปมาได้ ไม่ลำบากแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่าแปลกก็คือ Nautilus จะขับเคลื่อนเสียงออกมา เที่ยงตรงสม่ำเสมอ การเปลี่ยนอุปกรณ์ใดๆก็ตาม จะสามารถแสดงผลในการรับฟัง ออกมาได้อย่างฉับพลันทันที ส่วนที่ว่าจะโน้มเอียงไปทางความชอบของคุณหรือไม่ ตัวลำโพงB&W Nautilus จะไม่ตัดสินใจแทนความต้องการนั้นๆของคุณ ใจของคุณเองนั่นแหละควรพินิจพิเคราะห์ด้วยตนเอง

การแมทชิ่งซิสเต็ม ต้องคู่ควรกัน ไม่ใช่แค่มี Nautilusคู่เดียวแล้ว ทุกอย่างสำเร็จสมหมาย แต่ต้องมีแอมปลิไฟร์และแหล่งโปรแกรมที่ดี ซิสเต็มซึ่งเหมาะซึ่งกันและกันด้วย ดังนั้น

ผมคาดว่าต้องใช้งบประมาณรวมเบ็ดเสร็จเกินสามล้านบาทขึ้นไปอีกในระดับหนึ่ง จึงจะได้ใช้ศักยภาพของNautilus ได้อย่างสมภาคภูมิ

การให้เวลาในการเซ็ตอัพ รวมไปถึงการมีห้องฟังเพลงที่สมบูรณ์แบบพอสมควรแก่ฐานะของประติมากรรมB&W Nautilusจึงจะสามารถดึงเอาพลังทุกหยาดหยดของดนตรีที่ดีที่สุดออกมาได้

คุณควรมีความอดทน มีความมั่นคงในจิตใจ ให้เวลาและพยายามปรับตำแหน่งของมันจนถึงจุดที่สมดุลที่สุดในห้อง คุณค่าของมันจะปรากฏจนคุณคิดได้เองว่า จะไม่มีครั้งไหนอีกแล้ว ที่จะสัมผัสทุกอณูในความไพเราะของดนตรีได้เท่านี้

ติดตาม Chapter 18 ต่อไปนะครับ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here