Noise-Trap by Richard N. Marsh “ความมีชีวิตชีวา” ของเสียงดนตรี

0
1957

NoiseTrap by Richard N. Marsh

“ความมีชีวิตชีวา” ของเสียงดนตรี

          การจัดการระบบต้นทางไฟดูจะได้รับความสำคัญมากที่สุดในช่วงสี่ห้าปีหลังมานี้สำหรับกลุ่มของออดิโอไฟล์ หลากหลายรูปแบบของเครื่องกรองไฟต่างๆ ถูกนำมาใช้ ผลลัพธ์ที่ยอมรับกันได้คือมีความเปลี่ยนแปลงไปของคุณภาพเสียงอย่างแน่นอน

          ส่วนจะถูกใจมากหรือน้อย แมตช์กับ System หรือไม่อย่างไรดูจะเป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละท่านแต่ละกลุ่มไป

          สำหรับผมได้ทดสอบเครื่องกรองไฟหลายแบรนด์ แล้วพบว่าที่สุดในความต้องการของตนเองก็คือ ทำอย่างไรก็ได้จะต้องไม่ทำให้เราสูญเสียความถี่ออดิโอไปในกระบวนการต่างๆ ของเครื่องกรองไฟหรือเครื่องดักน้อยซ์ต่างๆ เหล่านี้

          ล่าสุดนี้เป็นผลงานของนักออกแบบชาวอเมริกันซึ่งผมยอมรับในฝีมือของเขามายาวนานพอสมควรคือคุณ Richard N. Marsh

          แนวคิดของคุณ Marsh คือ ทำอย่างไรผู้เล่นเครื่องเสียงจะเข้าถึงความมหัศจรรย์ในรายละเอียดของดนตรีได้ครบถ้วน เมื่อชมดนตรีจริงแล้วกลับมาถึงบ้าน ควรจะได้รับความบันเทิงระดับสุดยอดอีกครั้งใช่ไหม

           เสียงเบื้องลึกของไวโอลิน ความหวานนุ่มของเชลโลที่จับจิตจับใจ และเสียงร้องที่แผ่วจาง ท่ามกลางความสงัด สรรพสำเนียงเหล่านั้นยังแจ่มชัดอยู่ในความทรงจำ

           แต่เมื่อเปิดเครื่องเสียงสุดหรูเพื่อฟังเสียงดนตรี คนส่วนหนึ่งต้องกลับผิดหวังเพราะเสียงที่ได้ฟังจืดชืด ไม่เหมือนกับที่ได้ฟังมา นั่นเป็นเพราะเสียงที่คุณได้ฟัง ไม่มีรายละเอียดสำคัญอันจำเป็นต่อ “ความมีชีวิตชีวา” ของเสียงดนตรีนั่นเอง รายละเอียดและความปลดปล่อยของดนตรีมีความมุ่งหมายของการออกแบบ NoiseTrap ดังกล่าว

          คุณริชาร์ด มาร์ช เชื่อว่าเหตุผลก็คือ ปัญหาเกิดจากตัวกระแสไฟฟ้านั้นเอง และปฏิกิริยาที่เกิดจากอุปกรณ์เครื่องเสียงในระบบที่กระแสไฟฟ้าจะเติมความถี่ (จากขยะไฟฟ้า) เข้าไปผสมกับสัญญาณที่บันทึกมา ทำให้เสียงมัวมนและบดบังรายละเอียดต่างๆ ที่ให้ชีวิตชีวากับเสียงดนตรี

           ไม่ว่าลำโพง แอมปลิไฟเออร์ และแหล่งโปรแกรมของเราจะยอดเยี่ยม มีราคาสูงเพียงใด แต่หัวใจสำคัญของประสิทธิภาพเครื่องเสียงกลับขึ้นอยู่กับกระแสไฟฟ้าที่ป้อนพลังเพื่อขับขานเครื่องเสียงของคุณ อันนี้คือความจริง

           นักเล่นเครื่องเสียงแทบทุกท่านไม่ทราบว่า วิศวกรผู้ออกแบบระบบเครื่องเสียงและโฮมเธียเตอร์ได้พัฒนา และนำ “Noise Filters” มาใช้เพื่อลดเสียงรบกวนที่เกิดจากกระแสไฟฟ้า อาจกล่าวได้ว่า มีอยู่ในอุปกรณ์เครื่องเสียงแทบทุกชุดในปัจจุบัน

           วงจร “Noise Filters” เจเนอเรชั่นแรกเป็นวงจรง่ายๆ ที่ป้องกันกระแสไฟกระชาก ช่วยกรองกระแสได้ไม่มาก วงจรเจเนอเรชั่นที่สองถูกออกแบบโดย Richard N. Marsh และผลิตเพื่อจำหน่ายในนาม Monster Products มีการพัฒนาวงจรแบบ Multiple Filters เพื่อแบ่งแยก AC Outlet เป็นอิสระจากกัน นับเป็นการปรับปรุงที่ให้ประสิทธิภาพดีขึ้นมาก

           แม้กระนั้นก็ยังมีข้อด้อยบางประการ ประการแรก การออกแบบค่อนข้างซับซ้อน ยุ่งยากในการผลิตและมีราคาแพง ประการที่สอง อาจเกิดความผิดเพี้ยน เมื่อทำงานด้วยกำลังขับสูงๆ และต้องใช้กระแสมหาศาล ส่งผลให้เสียงขาดรายละเอียด และลดไดนามิคของช่วงเสียง

           แล้วก็มาถึงเจเนอเรชั่นที่ 3 คือ NoiseTrap ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบผลิตโดย มิสเตอร์ Marsh และทีมงาน ซึ่งไม่เพียงแก้จุดด้อยของวงจรรุ่นก่อนหน้า แต่ยังสามารถส่งผ่านกระแสไฟฟ้าที่สะอาดสดใสให้กับเครื่องเสียงทั้งระบบ และมีรูปทรงที่สอดคล้องกับความก้าวล้ำของอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ในปัจจุบัน นั่นคือมีขนาดกะทัดรัด มีราคาค่าตัวที่ย่อมเยามาก และมีประสิทธิภาพที่เหนือกว่า

           ฟังเหมือนเรื่องง่าย! แต่ความลับอยู่ที่รายละเอียดอุปกรณ์ Power Conditioners โดยทั่วไปจะออกแบบฟิลเตอร์ขจัดเสียงรบกวนด้วยการป้อนกระแสไฟฟ้า (AC Currents) โดยผ่าน Individual Filters ซึ่งมีผลลัพธ์คือ ขจัดสัญญาณกวนได้ส่วนหนึ่ง แต่ยังคงมีสัญญาณกวนที่เกิดจากอุปกรณ์เครื่องเสียงเองหลุดรอดออกมาได้ นั่นทำให้เสียงดนตรีที่ได้ฟังมัวมน ไม่สดใส เนื่องจากไม่มีรายละเอียดที่จำเป็น

           NoiseTrap ถูกออกแบบโดยใช้ Shunt หรือ Parallel Filters เพื่อกรองกระแสไฟฟ้าในแนวขวาง วิธีนี้จะ Short-circuits บรรดาความถี่แปลกปลอมทั้งหลาย นอกเหนือจากระดับ 50-60Hz ซึ่งเป็นสัญญาณเดิมในระบบเสียง และเพราะการกรองด้วย NoiseTrap ไดนามิคเรนจ์จึงมีช่วงกว้างอย่างไร้ข้อจำกัด

           ถ้าคำถามคือ จะได้ฟังเสียงเหมือนฟังการแสดงสดใช่ใหม? คำตอบคือ เสียงที่ได้ฟังจะใกล้เคียงความเป็นจริงอย่างที่สุด ด้วย NoiseTrap แน่ละอุปกรณ์นี้ไม่อาจทำให้คุณได้ฟังเสียงเหมือนนั่งฟังการแสดงสด แต่ด้วย NoiseTrap นี้ คุณย่อมจะได้รับฟังเสียงดนตรีที่เป็นธรรมชาติใกล้เคียงที่สุดเท่าที่เครื่องเสียงจะทำให้ได้

           สรุป อุปกรณ์เครื่องเสียงทั้งหลายในระบบ ย่อมเกิดสัญญาณกวนที่มาจากกระแสไฟฟ้า เพียงการเสียบต่อ NoiseTrap เข้ากับอุปกรณ์กันไฟกระชากก่อนเชื่อมกับระบบเครื่องเสียง จากนั้นก็เชิญเพลิดเพลินกับเสียงดนตรีอย่างอิ่ม

PREVIEW

           ในการใช้งาน เพียงเสียบต่อ NoiseTrap เข้ากับอุปกรณ์ AC distributor ที่จะจ่ายไปให้กับระบบ Audio Video ของคุณ โดยคุณริชาร์ดและทีมงานแนะนำว่า

1. เพื่อประสิทธิภาพที่ดีที่สุด ควรใช้สายไฟที่ให้มาพร้อมเครื่อง หรือใช้สาย AC ที่มีขนาดใหญ่กว่า หรือเท่ากับ AWG14 และมีความยาวไม่เกิน 50 ซม. (20 นิ้ว)

2. ควรใช้ NoiseTrap ร่วมกับอุปกรณ์ AC distributor แบบกันไฟกระชาก

          NoiseTrap มีขนาดกะทัดรัดสวยงาม มีครอบอลูมินั่มสดใส ไม่มีอะไรเป็นฟังก์ชั่นให้เลือก Plugged and Play ด้วยว่ามีแค่ไฟจุดเดียวที่แสดงถึงการทำงาน เมื่อเสียบสายไฟเข้าไปเท่านั้น

           อุปกรณ์ชิ้นนี้ถ้ามองแบบขำๆ ก็คือเหมือนเอากระบอกสูบสวยๆ เหมือนเป็นไส้ติ่งมาเสียบไว้กับปลั๊กรางไฟ ก่อนที่จะให้เครื่องเสียงทำงานแค่นั้นเอง ไม่มีอะไรไปมากกว่าที่เห็นนะครับ

          หลังจากเสียบไฟให้ระบบภายในของ NoiseTrap ทำงานแล้ว ปล่อยเวลาทิ้งไว้ซักสามสี่นาที หลังจากนั้นทดลองฟังดู เมื่อฟังไปแล้ว ก็สามารถที่จะปลดระบบได้โดยการดึงปลั๊กไฟของ NoiseTrap ออกมาแค่นั้นเอง

          ผมบอกได้เลยว่าเมื่อนำเอา NoiseTrap มาเสียบใช้งานกับเต้ารับไฟ เสียงในระบบออดิโอซิสเต็มที่เคยฟังคุ้นชินทุกเมื่อเชื่อวัน มันเปลี่ยนแปลงไปมาก ชนิดเห็นกันชัดเจน

           ส่วนใครจะชอบหรือไม่ชอบ ประทับใจแค่ไหนอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลนะครับ สำหรับผมรู้สึกนึกถึงความใสโปร่งกระจ่างความกว้างของเสียงอย่างโดดเด่นขึ้นมาในทันทีทันใด เหมือนกับว่า พลังอัดฉีดของเครื่องเสียงถูกบูทขึ้นมาในทันทีทันใด

           อาจจะเนื่องจากเป็นไปอย่างที่คุณริชาร์ดกล่าวเอาไว้ก็คือ เมื่อสัญญาณรบกวนต่างๆ ที่มีทั้งในตัวเครื่องเสียงเองและในระบบไฟ ได้ถูกหักล้างออกไป ก็จะได้การ “ชุบชีวิตชีวา” ของระบบเสียงกลับคืนมา

          ใครที่เคยรู้สึกว่าเครื่องเสียงของตัวเองมีเสียงขุ่นทึบมัวมนเจอ Noise-Trap ตัวนี้เข้าไป จะพลิกผัน กลับเป็นสดใสขึ้นมาทันที รายละเอียดและความสดใสตามขึ้นมาเป็นพรวนเลยทีเดียว

          อย่างไรก็ตาม ในแง่การเริ่มใช้งาน ผมอยากให้ฟังความไม่คุ้นชินของระบบภายในวงจรที่กรอง Noise ของ Noise-Trap สักระยะหนึ่งก่อน คือเกินหนึ่งชั่วโมง แล้วค่อยประเมินว่า – ชอบ – ไม่ชอบ ในความเปลี่ยนแปลง หรือแบบว่า รักมันเต็มที่ หรือไม่อย่างไรนะครับ

          เป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งซึ่งจะว่าไปแล้วควรนับว่าน่าทึ่งพอสมควร ถ้ามีโอกาสอยากให้ทดลองฟังดูแล้วถามตัวเองว่านี่คือสิ่งที่คุณรอคอยหรือแสวงหาหรือไม่

           เพราะ NoiseTrap เป็นมิติใหม่ของการฟังเพลงในขั้นระดับชุบชีวิตเครื่องเสียงให้สดใสมากยิ่งขึ้นครับ

**เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่จัดจำหน่ายในออนไลน์ ระดับอินเตอร์เนชั่นแนล ที่นักเล่นทั่วโลกสามารถสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ ของทาง Noise-Trap ได้โดยตรง ราคาตั้งไว้ $799.95

แต่แฟนคลับของ เพจวิจิตร บุญชู มีคูปองส่วนลด 20% ให้กรอกตอนสั่งซื้อ ในโค้ด wave20 ที่ www.noise-trap.com

 ส่วนบางท่านที่ต้องการทดสอบฟังด้วยตนเอง ตอนนี้ทางบริษัท Clef Audio มีสินค้าตัวอย่างอยู่ที่โชว์รูม สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 0-2932-5981

          แต่ต้องเรียนว่า Noise-Trap ไม่ใช่สินค้าของทาง Clef Audio  ซึ่ง Clef Audio เป็นเพียงผู้มีส่วนร่วมพัฒนาบางส่วนให้กับทางคุณ Richard N. Marsh เท่านั้นครับ ช่องทางการซื้อจึงมีแต่เฉพาะในเว็บไซต์เท่านั้น แต่มีประกันและมีช่องทางส่งถึงผู้บริโภคทั่วโลก

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here