The Light of Audiophile ตอนที่ 2

0
1511

The Light of Audiophile ตอนที่ 2

กฏธรรมชาติ ไม่มีอะไรดีที่สุด ไม่มีอะไรแย่ที่สุด

           การพัฒนาการของเครื่องเสียงหรือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการออกแบบต่างๆ นานาไม่เคยหยุดนิ่ง ก็เพราะว่านักออกแบบทั้งหลายย่อมทราบถึง ความเป็นจริงที่ว่า ไม่มีอะไรเพอร์เฟ็ค โดยปราศจากจุดอ่อน

           ทุกอย่างที่เคยออกแบบมาในอดีตนั้นแม้ว่าจะดีที่สุดในความคิดไอเดียแล้ว แต่ก็ยังมีจุดบกพร่อง ที่สมควรแก่การแก้ไขปรับปรุงอยู่เสมอ

           เมื่อมีการค้นพบสิ่งที่ดีกว่า วงจรภาคขยายจากคุณภาพเสียงระดับ “ให้พอได้ยิน” ก็กลายเป็น เข้าถึง “ความเป็นจริง” หรือ High Fidelity มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

           หลักวิศวกรรมเครื่องเสียงในเชิงอนาล็อกที่คิดค้นกันมานานนับศตวรรษอาจจะกล่าวได้ว่า เมื่อถึงจุดหนึ่ง ไม่มีอะไรที่เรียกว่า วงจรใหม่ แต่เป็น “พื้นฐานวงจรเดิมที่ปรับปรุงพัฒนาใหม่” เท่านั้น

           วงจรขยายแบบคลาส A มีข้อดีตรงการทำงานของวงจรและอุปกรณ์ เป็นเชิงเดี่ยว ได้คุณภาพเสียงไหลลื่นไร้รอยสะดุด แต่มีอัตราสูญเสียเป็นความร้อนสูงเกินไป

           วงจรคลาส B ที่มีอุปกรณ์ทำงาน “เชิงคู่” ช่วยในการผลักดัน เหมือน “วิ่งผลัด” ทำให้ได้มาซึ่งกำลังขับสูง แต่เสียงจะออกในแนวหยาบ เต็มไปด้วยความเพี้ยนจุดรอยต่อ จึงไม่มีการนำมาใช้งาน

          วงจรคลาส A-B ที่พัฒนาต่อมา มีการจับคู่อุปกรณ์ แล้วทำการไบอัสกระแสน้อยๆ ที่อุปกรณ์ขยายให้พร้อมต่อการทำงาน ดังนั้นจึงเป็นวงจรที่ได้ทั้งกำลังขับและความเนียนละเอียดของเสียง

           ในช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมา มีนักออกแบบหัวใสชาวอเมริกัน นาม บ็อบ คาร์เวอร์ ทำการออกแบบแอมป์ขยาย ในแบบสวิตชิ่งแอมป์ ที่มีการปรับการขยายออกเป็นสามระดับ เริ่มต้นแรงขยายต่ำ แรงขยายระดับกลาง และแรงขยายระดับสูง

          ระบบ Switching Power Supply ของ บ็อบ คาร์เวอร์ เรียกว่า แมกเนติคฟีลด์  ถือเป็นแนวคิดเริ่มต้นที่สามารถออกแบบแอมป์ ขนาดกำลังขับ 200 วัตต์ มีวงจรเล็กที่วางไว้ในฝ่ามือได้

          เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ต่อจากนั้นเป็นต้นมา ก็มีการพัฒนาไปสู่ดิจิตอลแอมป์ อาจกล่าวได้ว่า แอมป์ยุคหลัง มีการปรับปรุงให้แปลงพลังงานไฟฟ้าให้เป็นพลังเสียง อันมี คลาส D, คลาส G, คลาส H, คลาส T เป็นต้น

           ซึ่งอุปกรณ์และวงจรด้านอิเล็กทรอนิกส์ มีการพัฒนาขึ้นมามาก ทำให้ใช้วงจรขนาดเล็กและมีน้ำหนักเบาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงมากกว่าเดิม

           ยกตัวอย่าง เครื่องขยายคลาส D จะทำงานแบบลักษณะ Square wave ที่มีความกว้างที่เรียกว่า PWM (Pulse Width Modulation) ที่มีอัตราสูญเสียเป็นความร้อนน้อยลง

           แรกสุดดิจิตอลแอมป์ ให้เสียงแบบ “หยาบคายร้ายกาจ” เหมือนดังที่นักวิจารณ์เครื่องเสียงต่างแสดงความไม่พึงพอใจคุณภาพเสียงเป็นอย่างมาก แต่การพัฒนามานานกว่า 40 ปี ดิจิตอลแอมป์ก็สามารถ ลดจุดบอดต่างๆ ของวงจรดั้งเดิมแบบอนาล็อกและให้คุณภาพเสียงที่ดียิ่งขึ้น จนเป็นที่ยอมรับในที่สุด

           ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก มีการพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเสมอ ความชอบหรือไม่ชอบ เป็นเรื่องของการพิสูจน์คุณภาพ ของสิ่งที่คิดค้นใหม่ทั้งหลายกันให้กระจ่างแจ้ง

           เราคงจำกันได้ว่า กล้องดิจิตอลที่ถูกคิดค้นมาใช้งานครั้งแรก ถูกต่อต้านขนาดไหน และปัจจุบันเป็นอย่างไร

          สิ่งที่ยกตัวอย่างให้เห็นนั้น ผมอยากนำเสนอแนวคิดที่ว่า ทุกรูปแบบ ทุกวงจร ทุกๆ อย่างในระบบลำโพง ทั้งแบบท่อเปิด ท่อปิด ท่อออกหน้า ท่อออกหลัง การออกแบบล้วนเป็นความพยายามลดจุดบอด เสริมจุดเด่นทั้งสิ้น

          เพียงแต่การเปิดใจรับนั้น เป็นเรื่องที่กำหนดลงไปไม่ได้ เพราะแม้ทุกสิ่งที่ดีในปัจจุบัน มันก็ยังมีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป เพื่อการเข้าถึงอุดมคติ หรือความเป็น High Fidelity

          ในโลกใบนี้ กฏธรรมชาติ อธิบายความจริงให้เราเรียนรู้ว่า ไม่มีอะไรดีที่สุด ไม่มีอะไรแย่ที่สุด เพียงแต่อะไรที่เหมาะสมกับเรา ในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงรสนิยมของแต่ละท่านจะตอบรับกับสิ่งใด กับเหตุผลที่อยู่ในใจของทุกท่าน

           ตอนต่อไปจะว่าด้วยเรื่อง ระบบเครื่องเสียง Stereophonic นั้น มีวิธีการเล่นในรูปแบบใดบ้าง จากอดีตถึงปัจจุบัน แล้วทางเลือกของคุณ คืออย่างไร?

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here