The Light of Audiophile ตอนที่ 4

0
1417

The Light of Audiophile ตอนที่ 4

บทวิพากย์ วิธีการเล่นเครื่องเสียงหลากรูปแบบ

           ขออนุญาตตอกย้ำอีกครั้งในบทความชุดนี้นะครับ ว่าเป็นเรื่องของประสบการณ์ ความเห็นต่างๆ มีความผิด-ถูก มากน้อย จะมีความตรงต้องกับหลักวิชาการ หรือไม่ มาก-น้อยเพียงไร ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของทุกท่าน เพราะคือนี่คือประสบการณ์ของผมเท่านั้น

           จากนี้ไปจะบอกเล่า ถึงประสบการณ์การเล่นเครื่องเสียงรูปแบบหลากหลายที่ได้รับประสบการณ์มาตลอดช่วงชีวิตของการเล่นเครื่องเสียงครับ

          ดังที่กล่าวในบทที่ผ่านมา การเล่นเครื่องเสียง โดยสรุปมี

1. การเล่นในระบบสเตอริโอเชิงเดี่ยว หรือถ้านับการเชื่อมต่อสายลำโพงจะถือเป็น Single-Wire

2. การเล่นในระบบสเตอริโอเชิงซ้อน การเชื่อมต่อสายลำโพงจะเป็น Bi-Wire

3. การเล่นในระบบสเตอริโอเชิงซ้อน การเชื่อมต่อสายลำโพง และแอมป์จะแยกอิสระ เป็น Bi-Amplifications หรือ Tri-Amplifications

4. การเล่นในระบบสเตอริโอเชิงซ้อน แบบเพิ่ม Super-Tweeter เพิ่ม Active Sub-Woofer

           ในแต่ละรูปแบบหากกล่าวจากประสบการณ์จริงๆ โดยสรุป ไม่มีแบบใดดีที่สุด หรือแย่ที่สุด เป็นเพียงวิถีทางหรือกรรมวิธีการเข้าถึงคุณภาพ และศักยภาพของเสียง ตามความตั้งใจของผู้เล่นเครื่องเสียงเป็นหลัก

           1. ระบบสเตอริโอเชิงเดี่ยว แบบ Single-Wire มีข้อดีคือปราศจากความซับซ้อนใดๆ มีแหล่งโปรแกรมและแอมปลิไฟร์หนึ่งเครื่อง ลำโพงหนึ่งคู่ทุก อย่างเริ่มต้นและจบลงได้อย่างง่ายดาย

          โอกาสที่จะได้รับความผิดเพี้ยนจากการเชื่อมต่อระบบที่ซับซ้อนแทบไม่มี ซึ่งหากเลือกชุดเครื่องเสียงที่ดีและแมตชิ่งก็จะได้คุณภาพที่ดีมากเช่นกัน

           จุดอ่อนอาจจะไปอยู่ที่การปรับปรุงหรือการยกระดับนั้น อาจจะต้องลงทุนแบบยกอุปกรณ์ใหม่ไปเลย หมายถึงต้องเปลี่ยนอุปกรณ์เป็นชิ้นๆ ไป และอาจจะไม่ใช่ชิ้นเดียวด้วย

           ยกตัวอย่างเมื่อเล่นไประยะหนึ่ง แล้วต้องการเสียงที่มีรายละเอียดและพลังมากยิ่งขึ้น ต้องเปลี่ยนลำโพง รุ่นใหญ่กว่าเดิม ก็อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนแอมป์รุ่นใหญ่ไปด้วย มิฉนั้นจะไม่สมดุลซึ่งกันและกัน

          ดังนั้น การเริ่มต้นเล่นแบบสเตอริโอเชิงเดี่ยว แบบ Single-Wire สมควรต้อง “เผื่อแอมป์” หรือ “เผื่อลำโพง” ให้เป็นรุ่นที่สูงกว่าปกติ อย่างใดอย่างหนึ่งถ้าทำได้

           เพราะเมื่อถึงช่วงเวลาที่ต้องการเปลี่ยนแปลงใดๆ จะได้ไม่ต้องใช้งบประมาณมากเกินจำเป็น หรือเกิดความยุ่งยากกว่า เปลี่ยนชิ้นหนึ่ง แล้วจะต้องเปลี่ยนอะไรตามมาอีก

           2. การเล่นในระบบสเตอริโอเชิงซ้อน ด้วยการเชื่อมต่อสายลำโพงเป็น Bi-Wire ในประสบการณ์ส่วนตัวผม ยอมรับว่าไม่ค่อยแนะนำวิธีการนี้ เพราะที่ผ่านมา ลำโพงแบบ ไบร์-ไวร์ หลายคู่ก็มักจะมีปัญหาอาการผิดเฟสได้ง่าย ถ้าแอมป์ที่ใช้ขับนั้นมีกำลังไม่มากพอ หรือศักยภาพในการควบคุมลำโพงไม่ถึง

           เมื่อการควบคุมย่านความถี่ อิมพิแดนซ์ต่างๆ ไม่แม่นยำ ผลตามมาคือเสียงแต่ละย่านความถี่เปลี่ยนแปลงวูบวาบเกือบตลอดเวลาของการเพลย์แบ็ค

           แต่ถ้าจัดระบบดี แอมป์ดี ลำโพงดี สายลำโพงดี เข้ากันหรือแมตช์กันได้ลงตัว ระบบนี้ก็จะมีข้อดีเด่นตรงเสียงจากลำโพงจะเปิดกว้างมากขึ้น เสียงหลุดลอยออกจากตู้ และมีมิติชัดเจนขึ้น

           แต่การใช้สายลำโพงสองชุด จากแอมป์ ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ที่ไม่ค่อยจะคุ้มค่านัก

           ระหว่างใช้สายลำโพงรุ่นสูงๆ ชุดเดียว ในระบบ Single-Wire มักจะดีกว่า ระบบ Bi-Wire ที่ต้องแบ่งงบไปใช้สายลำโพงระดับปานกลางสองชุด

           ผมจึงไม่ค่อยแนะนำระบบ Bi-Wire ถ้าไม่มีความจำเป็นจริงๆ

           อีกประการหนึ่ง การเล่นระบบ Bi-Wire นั้น มักจะทำให้โทนัลบาลานซ์ของย่านความถี่ควบคุมยาก เสียงกลางแหลมมักจะพุ่งล้ำหน้าเกินจริง

           การประสานกันของตัวขับเสียงแหลมและเสียงทุ้ม เมื่อจะต้องทำการเปล่ง “เสียงกลาง” หรือช่วง Midrange ออกมาอาจจะลักลั่นกันได้ง่ายอีกด้วย

           เรียกว่ามีข้อดีตรงเสียงเปิดกว้างขึ้น แต่ถ้าในระบบมีอะไรเป็นจุดอ่อน ย่อมผิดเฟสได้ง่าย บางครั้งฟังขาดๆ เกินๆ ไม่เป็นธรรมชาตินัก

           จึงอยากให้ถือเป็นข้อพิจารณา ถ้าจะเล่นระบบ Bi-Wire ทุกอย่างในระบบต้องเข้าขั้นดีเยี่ยมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ครับ

          3. การเล่นในระบบสเตอริโอเชิงซ้อน ทั้งการเชื่อมต่อสายลำโพง และแอมป์จะเป็น Bi-Amplifications แยกส่วนทั้งหมด อาจจะมากกว่า เช่นเป็น Tri-Amplifications ก็เป็นไปได้

           เพราะรูปแบบนี้ เริ่มมาจากระบบงาน PA หรือ Professional ที่สามารถแยกย่านความถี่ ตั้งแต่ 2 ถึง 4 หรือ 5 ย่านความถี่ ให้แอมปลิไฟร์ขับลำโพง แต่ย่านความถี่อย่างอิสระ

           ดังที่เรียนได้ว่าอะไรก็ตามที่เป็นระบบที่มีความสลับซับซ้อนสูง ก็จะอาจจะเกิดจุดความเพี้ยนของรอยต่อ ได้เสมอ

           ต้องพิจารณาตั้งแต่อิเล็กทรอนิกส์ ครอสโอเวอร์  ปรีแอมป์ เพาเวอร์แอมป์ สายสัญญาณ สายลำโพง ต่อเชื่อมระหว่างระบบอย่างรอบคอบที่สุด มิฉะนั้นระบบขนาดใหญ่เช่นนี้ จะผิดพลาดได้ทุกจุด

           ข้อดี ก็คือเราสามารถควบคุมกำหนดคุณภาพเสียง ศักยภาพเสียงระดับความดังย่านความถี่ ที่ปรับแต่งให้เป็นไปตามความต้องการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไปจนถึงจุด “อุดมคติ” ได้

           แต่ในความใหญ่ของระบบนั้น ก็จะมักจะแลกมาด้วย ความประณีตพิถีพิถัน ความชำนาญของการจัดซิสเต็ม การจูนอัพ การเซ็ตอัพที่เพียบพร้อมจริงๆ เพราะหากพลาดจุดใด จุดหนึ่ง มีสิทธิ์ที่จะยุ่งเหยิง แก้ไขปัญหาไม่จบสิ้นได้ด้วยเช่นกัน

           ในปัจจุบันมีลำโพงระดับไฮเอ็นด์บางคู่มีข้อแนะนำเรื่องของแอมปลิไฟร์  ที่จะใช้ในระบบ Bi-Amplifications หรือ Tri-Amplifications  รวมถึงบางรุ่น ภายในตู้ได้บรรจุแอมป์ขับลำโพงเสียงทุ้ม ซับวูฟเฟอร์มาในตัวอีกต่างหาก

           หรือลำโพงบางคู่มีเครื่องอีเล็กทรอนิกส์ครอสโอเวอร์มาให้เสร็จสรรพ เพื่อตัดแบ่งความถี่ให้กับแอมป์

           ผมไม่แนะนำให้นักเล่นมือใหม่ลงไปเล่นถึงระบบ แยกแอมปลิไฟร์ขับในแต่ย่านความถี่แบบนี้นะครับ ถ้าไม่มีผู้เชี่ยวชาญปรับแต่ง จูนอัพ และติดตั้งให้

           เข้าทำนองว่า ระบบที่ใหญ่ที่สุดแบบนี้ พร้อมจะดีอย่างน่าใจหาย และพร้อมจะร้ายจนปวดศีรษะ ไม่เว้นแต่ละวันก็ได้เช่นเดียวกัน

           4. การเล่นในระบบสเตอริโอเชิงซ้อน แบบเพิ่ม Super-Tweeter เพิ่ม Active Sub-Woofer ระบบนี้ แรกสุดเป็นการออกแบบเพื่อแก้ไขความถี่ไม่สมบูรณ์ของระบบเสียง ที่อาจจะเนื่องมาจาก ข้อจำกัดของระบบ หรือสภาพอะคูสติกต่างๆ ที่ทำให้ย่านความถี่ไม่ครบตามที่ต้องการ

           แบบแรก เสริมตัวขับความถี่สูงสุดโดยเฉพาะ คือ Super-Tweeter เข้าไปในลำโพงเดิม ด้วยการต่อพ่วงเข้าไปในชุดลำโพงเดิม

           แบบที่สอง เสริม Sub-Woofer เข้าไปในลำโพงชุดเดิม

          วิธีการนี้ก็คือ เป็นการเสริมการเล่นแบบสเตอริโอเชิงเดี่ยว ด้วยการเพิ่มอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง คือเพิ่มความถี่สูงช่วงบน และความถี่ต่ำช่วงล่าง

           กรณีของซูเปอร์ทวีตเตอร์ คือการเพิ่มย่านความถี่สูง ที่สูงกว่า 20kHz  ขึ้นไป จนถึง 50,000Hz

           ซึ่งย่านความถี่ตรงนี้ เริ่มมีการให้ความสำคัญอันเนื่องมาจาก การกำเนิดของระบบดิจิตอลออดิโอ Super Audio CD รวมถึงความต้องการสนองตอบดนตรีสมัยใหม่ที่ใช้เครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น

          ผู้ออกแบบซูเปอร์ทวีตเตอร์ให้คำอธิบายว่า ลำโพงซึ่งตอบสนองความถี่ 20 ถึง 20,000 เฮิร์ตซ์ทั้งหลาย ในความเป็นจริงนั้น ย่านความถี่ช่วงปลายที่ 20,000 เฮิร์ตซ์ จะมีลักษณะเอียงลาดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ได้ยินความถี่ช่วงปลายได้ไม่ถึง 20,000 เฮิร์ตซ์จริง

           ซูเปอร์ทวีตเตอร์จึงเข้ามาช่วยต่อเติมย่านความถี่ตรงนี้ ให้ย่านความถี่เสียงแหลมนั้นไปไกลสูงสุดยิ่งขึ้น

           การเสริมซูเปอร์ทวีตเตอร์จะทำให้เสียงโดยรวมของลำโพงนั้น มีย่านความถี่ช่วงปลายที่มีรายละเอียดสูงมากยิ่งขึ้น โดยซูเปอร์ทวีตเตอร์ อาจจะออกแบบให้มีตัวปรับหรือเลือกย่านความถี่จุดตัดที่เหมาะสมจากตัวซูเปอร์ทวีตเตอร์ด้วย

           การเสริมซูเปอร์ทวีตเตอร์นั้นมักไม่ค่อยมีผลเอฟเฟ็กต์อะไรรุนแรงกับลำโพงเดิม เป็นการจัดการเซ็ตอัพที่ง่าย แต่ควรจะถามตัวเองด้วยว่าเรายังขาดความถี่ช่วงปลายเสียงแหลมจริงหรือไม่ และถ้าขาดเราจะเพิ่ม ซูเปอร์ทวีตเตอร์ของแบรนด์ใดเข้าไปในระบบจึงจะเหมาะที่สุด โดยไม่ทำให้บุคลิกดั้งเดิมของลำโพงหลักนั้นเปลี่ยนแปลงไป

           แบบที่สอง การเล่นในระบบสเตอริโอเชิงซ้อน แบบเพิ่ม Active Sub-Woofer

           ต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน มีการพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์กันมากในเรื่องของการเสริม Active Sub-Woofer เข้าไปในระบบดั้งเดิมที่เป็นสเตอริโอโฟนิค

           ทางสายหนึ่งก็มีการแอนตี้ ว่าไม่ดี อีกทางสายหนึ่งก็เปิดรับว่าเป็นการเสริมย่านความถี่เสียงต่ำ ที่ทำให้ระบบนั้น สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

           อย่างไรก็ตามในฐานะผมเป็นนักเล่นซึ่งมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับเสียงดนตรีจริงที่เวทีคอนเสิร์ต ในคอนเสิร์ตฮอลล์ รวมถึงลงไปทำงาน ในห้องบันทึกเสียง กับ Sound Engineer ซึ่งเป็นผู้บันทึกเสียงเพลงต่างๆ ให้เราได้ฟัง

           อยากจะเสนอความคิดเห็นว่า หากวัดด้วยอัตราส่วนการย่อสเกลดนตรีจริง ลงมาอยู่ในห้องฟัง สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นในระบบเสียงนั้น

           – หากขาด เราก็สามารถเติมเข้าไปได้

           – หรือสิ่งใดที่พอดีอยู่แล้วก็ไม่ควรจะเสริมเข้าไป

           ทุกสิ่งอยู่ที่วิจารณญาณ และความพึงใจของผู้ที่เป็นเจ้าของซิสเต็มเอง

           เราก็ต้องยอมรับกันว่าย่านความถี่เสียงต่ำลึกนั้นเป็นเรื่องที่เป็นปัญหามาตลอดสำหรับผู้ที่เล่นระบบเสียงภายในบ้าน

           ลำโพงคู่หนึ่งๆ คู่เดียว อาจจะไม่สามารถลงความถี่ต่ำลึกได้อย่างพอเพียง จึงได้เกิดวิธีการเล่นด้วยการเสริม Active Sub-Woofer เข้าไปในระบบ

           ดังที่เรียนไว้เบื้องต้นว่าการเล่นเครื่องเสียงด้วยวิธีการใดก็ตาม จะไม่มีวิธีใด ที่ดีที่สุดและแย่ที่สุด แต่อาจจะมีวิธี ซึ่งเราทุกคนสามารถไปถึงยังจุดหมายได้อย่างสมบูรณ์

           การเสริม Active Sub-Woofer เข้าไปในระบบนั้น แรกเริ่มเดิมที มีผู้ออกแบบผู้ผลิตลำโพงหลายบริษัท มีการนำเสนอ Active Sub-Woofer ให้กับลำโพงบางรุ่นของเขา เพื่อให้ได้ความถี่อันครบถ้วนมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเจนก็คือ

          Rogers LS3/5A ที่มีการออกแบบ AB-3a ลำโพง Active Sub-Woofer ให้สามารถเสริมความถี่ต่ำเข้าไปได้ มีจุดตัดความถี่ มีที่ปรับระดับอินพุต เฟสบาล้านซ์ ให้กลมกลืน ในห้องที่อาจจะมีความแปลกแยกแตกต่างกันไป

           จุดเด่นของการใช้ Active Sub-Woofer ก็คือ ถ้าจัดวางตำแหน่งและเซ็ตอัพได้ถูกต้อง ใช้จำนวนตู้ Sub ให้พอดีกับสเกลของเสียงดนตรี (ไม่มากเกินหรือน้อยเกิน) การฟังเพลงจากชุดเครื่องเสียงจะดูสมจริงมากยิ่งขึ้น

           แต่ก็ต้องระวังในเรื่องของการเซ็ตอัพหรือการใช้จำนวนตู้ Active Sub-Woofer เนื่องจากว่าย่านความถี่ต่ำนั้นคลื่นความถี่ค่อนข้างยาวมากกว่าความถี่อื่น (แม้ว่าเสียงจะเดินทางมาถึงเราพร้อมกัน) แต่ความถี่ต่ำก็มักจะเป็นมลพิษขึ้นมาได้เช่นกัน

           อาทิเกิดเสียงเบสบวมทั้งห้อง เสียงเบสเข้าไปกลบเสียงกลางแหลมเป็นต้น

          ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับวิธีการเสริมการใช้งาน การเซ็ตอัพที่เหมาะสมในแต่ละซิสเต็ม

           ผมจะขอนำมาบอกเล่าประสบการณ์ในตอนถัดไปเพื่อที่ว่าบทความในแต่ละตอนจะไม่ยาวเกินไป

           พบกันในในตอนที่ 5 ครับ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here