หรือศิลปะกำลังก้มหัวให้กับอำนาจเงิน – เมื่อ Jack Ma ขึ้นแท่นวาทยากร

0
9107

หรือศิลปะกำลังก้มหัวให้กับอำนาจเงิน-เมื่อ Jack Ma ขึ้นแท่นวาทยากร                                     

by: Tawatchai Meng

การพลิกผันจากครูบ้านนอกสอนภาษาอังกฤษที่ไม่เคยเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติ ไม่ได้จบนอกมา จากคนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ผ่านครั้งแล้วครั้งเล่าจนกลายเป็นอภิมหาเศรษฐีในฐานะผู้ก่อตั้ง Alibaba เว็บอีคอมเมิร์สระดับโลกที่เริ่มต้นจากการชื่นชมในความพยายามและความสามารถของเขา และเมื่อขึ้นแท่นเป็นมหาเศรษฐีระดับโลกแล้ว จากการชื่นชมก็เริ่มมีก้อนอิฐก้อนหิน คำพูดในแง่ลบต่าง ๆ นานา เป็นธรรมดาที่จะต้องมีคนอิจฉาจนมองว่าทำอะไรก็ขวางหูขวางตาไปหมด ไม่เว้นแม้แต่คนไทยที่ Jack Ma นำเอาทุเรียนไทยไปขายผ่าน T-Mall จนยอดขายถล่มทลาย จนเริ่มเป็นขี้ปากของคนไทยว่าทำให้ทุเรียนบ้านเราแพงจนจับต้องไม่ได้ พอทุเรียนราคาตกเพราะส่งออกไม่ได้ก็ด่าว่าเห็นปะ มันไม่จริงใจที่จะช่วยเหลือ…blah blah blah

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2019 ที่ผ่านมาก็เกิดกระแสดราม่าในหมู่ชาวเน็ตจีน เมื่อ Jack Ma ที่ไปร่วมงานคอนเสิร์ตประจำปีของวง  China Philharmonic Orchestra และได้เชิญให้เขาขึ้นไปยืนแท่น conductor เพื่ออำนวยเพลง Radetzky March ผลงานเพลงของ Johann Strauss (ชมคลิป) จนก่อให้เกิดกระแสวิพากวิจารณ์อย่างกว้างขวางในทำนองว่า “มีเงินทำอะไรก็ได้” “เงินซื้อศิลปะ” และมีคนตั้งคำถามว่า “ศิลปะควรจะก้มหัวให้กับอำนาจเงินหรือไม่”

หากใครที่ติดตามวิถีชีวิตของ Jack Ma จะเห็นว่า เขามีความสามารถด้านศิลปะทั้งศิลปะการต่อสู้อย่างไท้เก็ก การขับร้องทั้งงิ้วและเพลงสากล โดยเฉพาะเพลงร็อคที่เรามักจะเห็นเขาแต่งตัวเป็นร็อคเกอร์ควงกีต้าร์ขึ้นเวทีในงานต่าง ๆ แต่ที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักก็คือ ชาวเน็ตเห็นว่าเพลงคลาสสิกเป็นศิลปะชั้นสูง ส่วน Jack Ma คงเป็นได้แค่ Music lover จึงไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะขึ้นไปอำนวยเพลง

แต่ที่สวนกระแสชาวเน็ตคือ นายโจวหงยี (周鸿祎)นักศึกษาสถาบันดนตรี Central Conservatory of Music ที่เขียนจดหมายถึง Jack Ma เพื่อขอความสนับสนุนด้านดนตรี เมื่อจดหมายฉบับนี้ถูกเผยแพร่ทางเน็ตก็เกิดกระแสดราม่าอีกรอบ โดยคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า จดหมายนี้เป็นการเขียนไปขอเงิน ทั้งๆที่ถ้าหากได้อ่านเนื้อความจดหมายทั้งฉบับแล้ว จะเป็นว่า นายโจวได้ให้เหตุผลที่ดีมากพร้อมกับยกตัวอย่างตระกูล Lobkowicz เศรษฐีชาวออสเตรียผู้ชื่นชอบในศิลปะที่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ Beethoven ในสมัยนั้น ซึ่งในที่สุดแล้ว ไม่เพียงแต่ตระกูลของเขาที่ชื่นชอบศิลปะได้ประโยชน์เท่านั้น หากแต่ยังทำให้ผลงานของ Beethoven กลายเป็นผลงานเพลงอมตะในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

โจวกล่าวขมวดในตอนท้ายได้อย่างน่าสนใจว่า “สิ่งที่นำมาซึ่งความเป็นอมตะคือ Beethoven คือศิลปะ ศิลปะสามารถเป็นอมตะนิรันดร์ได้ เงินตราไม่อาจจาลึกชื่อเสียงได้ แต่ศิลปะสามารถอยู่ยั้งคู่มนุษยชาติตลอดไป”

เจตนาของโจวที่เขียนจดหมายถึง Jack Ma คือ ต้องการให้ชาวจีนที่มีแนวคิดแบบตระกูล Lobkowicz ออกมาให้การสนับสนุนวงการเพลงคลาสสิกจีน เพื่อให้จีนมีศิลปินประเภท Beethoven, Bach, Tchaikovsky ฯลฯ เกิดขึ้นเยอะ ๆ เพราะทุกวันนี้ศิลปินยังต้องห่วงปากท้องตัวเองโดยการรับจ้างสอนดนตรีบ้าง รับจ้างแสดงในงานต่าง ๆ บ้าง จนไม่มีเวลาที่จะทุ่มเทกับการสร้างสรรค์ผลงาน หากจะอาศัยการผลิตแผ่นออกมาให้เหล่าออดิโอไฟล์ช่วยซื้อกันคนละแผ่นสองแผ่นแล้ว คงได้แต่เป็นแค่ศิลปินไส้แห้งแน่

ประเทศจีนใหม่ต่อตั้งมาครบ 70 ผลงานอมตะที่พวกเรารู้จักคงมีแค่ The Yellow River และ The Butterfly Lovers ส่วนผลงานเพลงอื่น ๆ อย่าง Ode the Red Flag (สดุดีธงแดง) (ชมคลิป) ผลงานของหลี่ฉีหมิง (吕其明), A Wonder of Naxi, op. 25 ผลงานของจูเจี้ยนเอ่อ (朱践耳), Poems of Yunnan ผลงานของหวางซีหลิน (王西麟), หรือ Iris Devoilee ผลงานของเฉินฉีกาง (陈其钢) เป็นต้น ซึ่งเป็นผลงานที่ไม่คุ้นหูนัก รวมทั้งยังมีผลงานอีกจำนวนมากที่แทบไม่มีโอกาสได้นำออกแสดงหรือเผยแพร่ จนกลายเป็นแผ่นโน้ตที่ซุกไว้ในลิ้นชัก เนื่องจากไม่มีใครนำไปบรรเลง ไม่มีการเผยแพร่ เมื่อไม่เคยมีใครได้ยินก็ไม่มีโอกาสเป็นที่รับรู้

การหาผู้สนับสนุนด้านนี้อย่างจริงจังจึงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากถูกมองว่าเป็นธุรกิจที่มีแต่ต้องควักเนื้อ คือเตรียมรับการขาดทุนได้เลย

สถานการณ์เช่นนี้แทบไม่แตกต่างจากบ้านเรา ดังนั้น แทนที่จะลงทุนซื้อเครื่องเสียงชุดละสิบล้านเพื่อความสุขส่วนตัวเท่านั้น หากสละเงินจำนวนเดียวกันนี้สนับสนุนศิลปินเพื่อสร้างสรรค์ผลงานดี ๆ นอกจากได้ความสุขกับตัวเราเองแล้ว ยังสามารถแบ่งปันความสุขแก่คนทั่วไปตลอดจนสืบทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานได้ น่าจะเป็นความสุขที่แท้จริง

ที่มา Chaophraya Forum

ภาพจากอินเทอร์เน็ต

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here