Audio GD R-1 NOS
เสน่ห์เสียงหวาน สะอาด พลิ้ว ดังหลอดสุญญากาศ
คงยังพอจำกันได้นะครับ เกี่ยวกับ DAC แบรนด์ Audio GD ที่มั่นใจเส้นทางเดียวในการพัฒนาคือ เฉพาะ DAC ในรูปแบบอุปกรณ์ถอดรหัสแบบต่อพ่วงกันเป็นขั้นบันได หรือ R-2R Resister Ladders แต่เทคนิคนี้จะมีสองรูปแบบคือ ผู้ผลิต DAC พื้นฐานทั่วไปจะใช้ชิปสำเร็จรูป มาต่อพ่วงแบบอนุกรม และรูปแบบที่ Audio GD ใช้อยู่ ซึ่งเป็นงานระดับฝีมือแนวไฮเอ็นด์แท้ๆ คือการเอารีซีสเตอร์มาต่อขนานกัน และเขียนโปรแกรมคอนโทรลความเที่ยงตรงในชิปแบบ FPGA : Field Programmable Gate Array
Audio GD R-1 เวอร์ชั่นนี้พัฒนามาหลายลำดับจากรุ่นเดิม มาถึงล่าสุดนี้ Audio GD R-1 NOS อันเนื่องจากผู้คนจำนวนไม่น้อยชื่นชอบเสียงของ Pure NOS mode ในเครื่อง DAC ของ Audio GD ดังนั้นวิศวกรของเราจึงออกแบบเครื่อง R-1 NOS โดยมุ่งเน้นประสิทธิภาพสูงสุดของ Pure NOS mode เพียงประการเดียว
เพื่อให้ได้เสียงดนตรีที่บริสุทธิ์อย่างแท้จริง
การทำงาน NOS ถูกออกแบบให้ไม่ต้องอาศัยสัญญาณ Main Clock แต่อย่างใด ดังนั้นประโยชน์ที่ได้จากการออกแบบ NOS เช่นนี้คือการหลีกเลี่ยงไม่ให้สัญญาณเสียงถูกรบกวนโดย Jitter จาก Main Clock นั่นเอง
นอกจากนั้นในวงจรประมวลของ R-1 NOS ยังได้ใช้เทคโนโลยี Zero delay เพื่อให้มั่นใจว่า การส่งผ่านข้อมูลและสัญญาณ Clock จะประสานกันอย่างแม่นยำตลอดการทำงาน เพื่อลด Jitter ให้ลดเหลือน้อยที่สุด
การออกแบบ R-1 NOS เลือกใช้แผ่นกั้น Galavanic isolator ด้านหน้าในส่วนของ DA และภาคอนาล็อก เพื่อป้องกันภาค Digital inputs และ Digital processor อย่างเด็ดขาด เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่สะอาดสดใสอย่างแท้จริง
ภายในมีการติดตั้ง ชุด R-2R decoders 24 bit จำนวน 8 group และ Native DSD decoders 4 ชุด เพื่อทำงานใน Balanced mode รวมทั้งการเลือกใช้ DA 7 modules ซึ่งเป็นการอัพเกรดกว่าเครื่อง R1 ในเจเนอเรชั่นที่แล้ว (ซึ่งใช้ DA8 modules)
ทีมออกแบบเลือกใช้ภาคเพาเวอร์ซัพพลาย Servo stabilized รุ่นใหม่ล่าสุด เพื่อหล่อเลี้ยงวงจรดิจิตอล ระดับ Noise เทียบได้กับการใช้แบตเตอรี่ แต่จะไม่ให้บุคลิกลักษณะของเสียงที่แห้ง เบาบางดังเช่นแบตเตอรี่
ขณะเดียวกันอุณหภูมิในการทำงานก็ต่ำกว่าโมเดลเดิมๆ ส่วนวงจรอนาล็อกยังคงใช้กระแสไฟจาก Regulated เพาเวอร์ซัพพลาย
มีการใช้ PSU 8 ชุด สำหรับเพาเวอร์ซัพพลาย เพื่อหล่อเลี้ยงอุปกรณ์ต่างๆ อย่างอิสระ
หมายเหตุ: ความเข้าใจเกี่ยวกับ NOS design นั้น เมื่อช่วงปี 1970 มีการเปิดตัวเครื่อง CDP เจเนอเรชั่นแรก ซึ่งก็ออกแบบด้วยการใช้ NOS design “NOS” ย่อมาจาก “Non-Oversampling” หมายถึง ทั้งระบบของ DAC จะไม่มีการยกระดับการโอเวอร์แซมปลิ้งใดๆ ในวงจรทั้งสิ้น
เพราะการใช้รูปแบบอนาล็อกฟิลเตอร์ในอดีตที่ผ่านมามีปัญหาความผิดพลาดค่อนข้างมาก และมักทำให้เกิด Phase shift ซึ่งส่งผลเสียต่อคุณภาพเสียง ช่วงหลังปี 1980 จึงมีการคิดค้นวงจร Oversampling และ FIR filter จึงทำให้สามารถปรับปรุงเสียงให้ดีขึ้น (เมื่อเทียบกับการใช้ LC filter)
เทคโนโลยีนี้จึงถูกใช้อย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ผู้คนจำนวนไม่น้อยยังคงชื่นชอบในเสียงดนตรีที่มาจากระบบ NOS design พวกเขาเชื่อว่า การจะได้เสียงที่ดี ไม่จำเป็นต้องมีขั้นตอนที่ซับซ้อน NOS design ให้เสียงที่น่าฟังกว่า โดยยังคงบุคลิกเดิมๆ จากเสียงต้นฉบับ เช่นเดียวกับเสียงที่เราได้ฟังจากหู ไม่ใช่จาก Spec ที่สวยงาม
สำหรับผู้ที่ติดยึดกับ Spec ตัวเลขที่ดีงาม NOS design นี้น่าจะไม่ใช่ทางเลือกของคุณ
จุดประสงค์การออกแบบ DAC Audio GD R-1 NOS คือย้อนกลับไปใช้เทคนิคที่เรียบง่ายสามัญ ไม่ซับซ้อนแต่ได้คุณภาพเสียงที่ดีเยี่ยม ให้เสียงที่เหมือนเครื่องเสียงหลอด (Tube-like Sound)
การใช้ระบบ NOS design ให้บุคลิกเสียงเช่นเดียวกับเครื่องเสียงหลอด หรือเสียงจากแผ่นเสียงไวนีล ที่มีค่าความเพี้ยนในระดับใกล้เคียงกัน คือระหว่าง 0.01% ถึง 0.1% ตัวเลขขนาดนี้มันไม่สวยหรู เหมือนเครื่องเสียงราคาแพงลิบลิ่วที่ใช้ DAC จากสหรัฐอเมริกา แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็พากันชื่นชมว่าให้เสียงที่ยอดเยี่ยม
นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าบรรดาเทคโนโลยีดิจิตอลล้ำสมัยต่างๆ อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์จิตวิทยาของการได้ยินในมนุษย์เราทั้งหมดทั้งสิ้น ดังนั้นหลอดสุญญากาศ ที่มีความผิดเพี้ยนสูงแต่มนุษย์ชอบฟัง? และวงจร DAC ในแบบ NOS design ก็เป็นความต้องการของนักเล่นระดับไฮเอ็นด์ ที่ไม่สนใจตัวเลขสเปคหรูๆ
สรุปแบบตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม ในข้อดีและข้อด้อยของ R-2R DAC
ข้อดี
1. R-2R จะไม่แปลงสัญญาณ Clock เพิ่มเติมเข้าไปในสัญญาณ Output
2. R-2R ไม่ไวต่อ Jitter ในขณะที่ Delta-Sigma D/A จะไวต่อ Jitter มาก
3. จะให้ Output signal แม่นยำตามต้นฉบับมากกว่า เมื่อเทียบกับ Delta-Sigma D/A
ข้อด้อย
1. ค่า THD ปัจจุบันจากการใช้ชิป Sigma Delta จะเหนือกว่า R-2R ladders
2. ยังมีข้อบกพร่องใน Ladder resistors ซึ่งยากที่จะหลีกเลี่ยง การคัดสรรเทียบเคียงค่ารีซิสเตอร์ เป็นงานที่ยากและยังต้องแสวงหาเทคโนโลยีที่ซับซ้อนในการแก้ปัญหาในอนาคตต่อไป
แต่ถ้าคุณไม่คลั่งไคล้ตัวเลขสเปคฯ และต้องการเสียงในแบบฉ่ำหวานดั่งหลอดสุญญากาศ ละก็ Audio GD R-1 NOS คือคำตอบครับ จากนี้คือผลทดสอบการฟัง DAC ทรงเสน่ห์แฮนด์เมดเครื่องนี้ของผมในช่วง 2-3 สัปดาห์
Preview
ในบางครั้งในการทดสอบผลิตภัณฑ์สินค้า โดยเฉพาะจำพวก DAC นี้ ผมก็อยากจะลดความจำเป็นทาง Technical Term ลงไปบ้างไม่อยากเจาะลึกเรื่องของเทคนิคหรือสเปคซิฟิเคชันมากนัก เอาเพียงแค่ประมาณหนึ่ง รู้ที่มาที่ไป ก็น่าจะพอเพียง เพราะในทางเทคโนโลยี จะค่อนข้างเข้าใจยากและการอ่านอะไรยาวๆ ทางเฟซบุ๊ก น่าจะเมื่อยตาไม่น้อย
และที่สุดแล้ว ในทางเทคนิคจะลึกล้ำแค่ไหนก็ตาม คงต้องได้ฟังเสียงจริงๆ ของเครื่อง จึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการของเราได้ สำหรับ DAC R-2R Resister จะมีคุณสมบัติที่โดดเด่นอยู่ประการหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ นั่นก็คือมีแนวเสียงที่ใกล้เคียงอนาล็อกได้มากที่สุด และสิ่งที่ผมชื่นชอบก็คือ ความเป็นธรรมชาติ เสียงกลางที่น่าประทับใจ
โดยเฉพาะ Audio GD R-1 NOS เครื่องนี้ คือใช้วงจรในการถอดรหัส สัญญาณ ด้วย NOS หรือ Non Oversampling เพียงอย่างเดียวโดดๆ ปราศจากวงจรโอเวอร์แซมปลิ้ง เพราะแม้ตัวเลขสเปคฯ จะไม่สวยหรู แต่น้ำเสียงน่าฟัง มีความเป็นดนตรีสูงมาก อีกทั้งระบบการทำงานก็เบสิกสุดๆ
พิเคราะห์ตัวเครื่อง ระบบขั้วต่อดูเหมือนจะยกมาจากเวอร์ชั่นแรกทั้งหมด มีอินพุตโคแอ็คเชียล ขั้วต่อแบบ BNC อินพุตออพติคอล รวมทั้ง HDMI (DVD / Blu-ray) และ USB สำหรับใช้กับคอมพิวเตอร์
มีเอาต์พุต บาลานซ์ 2 รูปแบบคือ แบบ XLR Balanced และ บาลานซ์ขั้วต่อ ACSS สำหรับใช้งานกับเฮดโฟน พร้อมช่องต่อแบบอันบาลานซ์ แบบ RCA โดยทั้งหมดนี้ ถือว่ามีมาให้อย่างครบครันพอเพียง บนรูปทรงขนาด Size เล็กลงครึ่งหนึ่งของรุ่นใหญ่ อย่าง R7 และ R8
หน้าปัดส่วนด้านหน้าเรียบง่าย ดิสเพลย์ ตัวอักษรแจ้งแสดงระดับบิตเรต ของดิจิตอลอินพุต และแสดงช่องต่อ แทบไม่มีอะไรให้ดู เหมือน Audio GD อยากบอกให้รู้ว่า ออกแบบ R-1 NOS มาให้รับฟังคุณภาพเสียงกันโดยเนื้อแท้จริงๆ ไม่มีกระทั่งโหมดสแตนด์บาย ที่ปุ่มเพาเวอร์ หรือไม่มี รีโมตคอนโทรลมาให้ด้วยครับ
ทุกอย่างให้สั่งการ กดได้จากปุ่มหลักบนหน้าปัด ทั้ง Setting และ Selector เท่านั้น ทุกอย่างง่ายๆ รับสัญญาณ Digital แบบออโตเมติคจากอินพุต ดีไซน์มาเหมือนตัดเอาความหยุมหยิมจุกจิกออกไปอย่างไม่ใยดี ให้เหลือแต่คุณภาพเสียงเป็นหลัก
บทสรุปโดยสังเขป ถึงคุณภาพเสียงแบบเนื้อๆ กันเลยนะครับ หลักๆ ผมต่ออินพุตจากทั้งบาลานซ์และอันบาลานซ์กับเครื่องเล่นซีดีเพลย์เยอร์เป็นหลัก
อันนี้ต้องเรียนให้ทราบไว้ก่อน คุณภาพเสียงในช่วงแรกที่เปิด หรือแกะออกมาจากกล่องนั้น โปรดอย่าเพิ่งประเมินใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเสียงมันจะออกเหมือนผลไม้ที่ยังไม่สุก คืออมเปรี้ยวอมฝาด อมหวานพิกลพิลึกอยู่ในช่วงประมาณ 10 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นจะอิ่มฉ่ำ รายละเอียดดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
เมื่อเบิร์นไปถึงหนึ่งสัปดาห์เต็ม ผมถึงได้ฟัง สัมผัสเนื้อหนังแห่งคุณภาพ จริงจัง และเรียนรู้ว่า DAC รุ่นนี้ต้องให้เวลาสักเล็กน้อย แล้วคุณจะซาบซึ้งตรึงใจกับคุณภาพเสียงสวยใสของมัน‼️
นั่นคือความหวานฉ่ำประดุจเครื่องเสียงหลอด รายละเอียดระยิบระยับ รับรู้ได้เลยว่าการที่ DAC จะสามารถถอดรายละเอียดได้ในแบบธรรมชาตินั้น จะต้องควบคุมเสียงช่วงปลายให้ทั้งละเอียดและไม่คมสดจัดจ้าน ซึ่ง Audio GD R-1 NOS ทำได้หมดจดแทบไม่น่าเชื่อว่ามันมีราคาแค่ สี่หมื่นบาทเท่านั้น
โดยเฉพาะแนวทางของเสียงกลางแหลมนั้นเชื่อขนมกินได้เลยว่าให้เสียงที่แตกต่างจากชิปไอซีสำเร็จรูปอย่างคนละรูปแบบ มันเป็นเอกลักษณ์เสียงเฉพาะซึ่งคนที่เคยคุ้นชินกับระบบเสียงอนาล็อก หรือการฟังแอมป์หลอดสุญญากาศ คลาส A น่าจะชื่นชอบเป็นพิเศษ
ผู้ที่มองหา DAC ราคาพื้นฐานเริ่มต้น แต่ชอบเสียงหวานใสฉ่ำ สำเนียงหลอดสุญญากาศ ขอให้รีบมองหา Audio GD R-1 NOS เอาไว้ก่อนเลยครับ
แต่ขอบอกว่า ดีไซน์ของ Audio GD นั้น คลาสสิกขรึมๆ ไม่อำนวยความสะดวกด้านรีโมตคอนโทรล และหน้าปัดแพรวพราว ตัวอักษรบนดินเพลย์ดูไม่หรูอะไร แต่เรื่องเสียงหวาน สะอาด พลิ้ว ดังหลอดสุญญากาศ เป็นเสน่ห์ร้ายกาจ แบบว่าถ้าฟังแล้วจะต้องติดใจครับท่าน‼️
สนใจทดสอบฟัง หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่
Msound โทร. 096-978-7424 คุณเอ็ม , Line : m_240956
โทร. 083-636-4447 โกยุทธ
โทร. 081-982-0282 มาศ ไฮไฟ
โทร. 088-005-5156 เต่า ออดิโอ้
โทร. 091-718-8716 ศราวุธ