The Light of Audiophile ตอนที่ 5
หลักพิจารณาการเล่นเครื่องเสียงสเตอริโอแบบเสริมความถี่ต่ำ
ก็คงยังเป็นข้อถกเถียงอยู่หลายหลากมุมมองในประสบการณ์ของนักเล่นเครื่องเสียงระดับออดิโอไฟล์ว่า ระบบสเตอริโอโฟนิค ที่ดีไซน์ระบบให้มีลำโพงสองคู่ซ้ายขวานั้นพอเพียงสำหรับการฟังหรือไม่
และที่มีการเสริมลำโพงตู้ Sub-Woofer มันจำเป็นจริงหรือเปล่า
– ทำให้ดีขึ้น? หรือทำให้แย่ลง?
บทความจากประสบการณ์ล้วนๆ ของผมชิ้นนี้ ไม่มีเจตนาแบบ “เห็นด้วยอย่างมาก” หรือ “ไม่เห็นด้วยอย่างมาก” ทั้งสองแนวความคิดนะครับ
หากท่านได้ติดตามงานเขียนบทความเครื่องเสียงของผมมายาวนานพอสมควรแล้ว ก็จะทราบว่า ผมยึดทางสายกลางเหมือนในแนวคิดทางพุทธศาสนาคือ มัชฌิมาปฏิปทา
เมื่อเรามาแยกแยะ รายละเอียดเหตุผลกัน จะเห็นได้ทั้งจุดเริ่มต้น และจุดหมายปลายทางได้ว่า จะเดินทางสายใด
ในความคิดส่วนตัวของผมก็คือ ระบบเครื่องเสียงที่ดี ควรสนองตอบความถี่จากเสียงดนตรีให้ครบถ้วน “เท่าที่จะเป็นไปได้” คือความหมายของ High Fidelity
ในความเป็นจริง ถ้ายึดเอามาตรฐานการแสดงสด จากวงออเคสตร้า ที่มีความถี่เสียง น้ำหนักเสียง ความเข้มของเสียง ไดนามิคเร้นจ์ การตอบสนองความถี่ เวทีเสียง อิมเมจจุดตำแหน่งเสียงของชิ้นดนตรีเหล่านี้
จากขั้นตอน Recording ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบส่วนแรก คือ Sound Engineer ในห้องบันทึกเสียงที่เขาต้องพยายามทำให้ขั้นตอนของการบันทึกเสียงนั้น ต้องเก็บทุกรายละเอียดมาให้ได้สมบูรณ์แบบที่สุด
ในขั้นตอน Playback เมื่อเรานำเพลงที่บันทึกมาจากสตูดิโอมาฟังกับเครื่องเสียงภายในบ้าน จะต้องคิดคำนึงก่อนว่า Scale เสกลเสียงที่ถูกย่อส่วนลงมานั้น มี “อัตราสัดส่วนสมจริง”
การตอบสนองความถี่ แหลม กลาง ทุ้ม จะต้องย่อลงมาแบบมีอัตราส่วนที่ “สอดคล้องความเป็นจริง”
เพราะไม่มีเครื่องเสียงชุดไหนที่สามารถให้ย่านความถี่ รายละเอียดเสียง เวทีเสียง ความเป็นชิ้นดนตรีต่างๆ เหมือนการแสดงสด เหมือนดนตรีคอนเสิร์ตได้ด้วยลำโพงเพียงคู่เดียว!
คิดง่ายๆ ถ้าเวทีแสดงดนตรีกว้าง 15 เมตร ลึก 7 เมตร ถามว่า มีชุดลำโพงชุดใดในระบบโฮมยูส เสนอเวทีเสียงได้กว้างถึง 15 เมตรลึก 7 เมตร บ้าง?
ดังนั้น เราจึงต้องคิดถึงสเกล สัดส่วนดนตรีที่ย่อลงมาฟังในห้อง ที่ลำโพงของเรา วางห่างกันประมาณ 2-3 เมตร โดยทั่วไป มันน่าจะอยู่ที่ประมาณไหน
ซึ่งอาจจะแค่ 1/3 หรือ 1/5 ของการย่อส่วนลงมาในห้องฟัง ก็ถือว่าสุดยอดแล้ว
ถ้าเข้าใจตรง Scale สัดส่วนดนตรีตรงนี้แล้ว เราก็จะเข้าใจว่า เครื่องเสียงที่เราฟังทุกวันนี้ก็คือการ ”ย่อส่วน“ ดนตรีจริงมาฟังในบ้านนั่นเอง
ถ้าเรายึดเรื่องสเกลของเสียงเป็นหลัก เราก็คงจะพอทราบว่าชิ้นดนตรีต่างๆ นั้น ควรจะมีปริมาณของเสียงขนาดไหน
ไม่ว่าจะเป็นแหลม กลาง ทุ้ม เช่นเสียงของไวโอลิน เสียงของเปียโน เสียงของดับเบิ้ลเบส เสียงของทิมปานี เมื่อถูกย่อส่วนมาในบ้านแล้ว สเกลและสัดส่วนมันมีบาลานซ์ หรือความพอดีอยู่ที่ตรงไหน
ถ้าเสียงชิ้นดนตรี ชิ้นใดชิ้นหนึ่ง ผิดสเกลสัดส่วนน้อยไปหรือมากไป ก็ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดีทั้งสิ้น
อย่างเช่นลำโพงวางบนขาตั้งคู่หนึ่งให้เสียงกลางแหลมได้ดี แต่เสียงต่ำด้านลึกของชิ้นดนตรีนั้นขาดหายไปตรงนี้ ถ้าเราจะทำให้สมจริงตามสเกลสัดส่วนมากขึ้นก็คือเล่นลำโพงที่ใหญ่ขึ้น เป็นระบบตั้งพื้น หรือรุ่น Top ที่การออกแบบนั้น สามารถผลักดันสเกลของดนตรีให้ได้สมบูรณ์แบบ
หรืออีกวิธีการหนึ่งก็คือการเสริม Sub-Woofer ลงไปในระบบ
ในฐานะคนฟัง ถ้าทุกอย่างรู้สึกได้ว่าสเกลเสียงดนตรี มันพอดี สมส่วนอยู่แล้ว
คุณจะเปลี่ยนลำโพงใหญ่ขึ้นหรือคุณจะเสริม Sub-Woofer ลงไปเพื่อให้มีเสียงต่ำมากขึ้นเพื่อสิ่งใด?
เพราะมันจะทำให้สเกลสัดส่วนต่างๆ ของดนตรีก็ผิดไปหมด
ตามหลักการที่ถูกต้องอะไรที่มันพอดีอยู่แล้วก็ควรพอเพียงอยู่ตรงนั้น
แต่ถ้ารู้สึกว่ามันขาด ก็เพิ่มเข้าไป หรือถ้าเกิน ก็ลดมันลงมา นี่ก็เป็นหลักการธรรมชาติพื้นๆ โดยทั่วไปอยู่แล้วนะครับ
ผมจึงไม่ได้ปฏิเสธหลักการใดๆ ทั้งสิ้นในการเล่นเครื่องเสียง
และถ้าเราจะเสริมอะไร ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในระบบอย่างใด เราควรรู้การตอบสนองความถี่ของชิ้นดนตรีด้วย
สมมุติว่า ตอนนี้ความถี่ต่ำในซิสเต็ม ของเราน้อยไป ทำให้อาจจะขาดเสียงของเครื่องดนตรีบางอย่างได้ เรามาดูกันว่า ถ้าจะเสริม Active Sub-Woofer ชุดเครื่องเสียงเราจะครอบคลุมชิ้นดนตรีใดบ้าง?
จากประสบการณ์ ในการทำระบบ Professional และ Home Use ความถี่ต่ำที่มีจุดตัดตั้งแต่ 250Hz ลงไปจนถึง 20Hz หรือต่ำกว่า ผมถือว่าเป็นย่านความถี่ครอบคลุมการทำงานของSub-Woofer
ยกตัวอย่างชิ้นดนตรีที่เกี่ยวข้อง กับความถี่ต่ำที่สำคัญช่วงนี้คือ
– ออร์แกนท่อ / คีย์บอร์ด / ซินธีไซเซอร์ สนองความถี่ช่วงต่ำลึกได้ถึง 20Hz
– เปียโน สนองความถี่ช่วงต่ำลึกได้ถึง 25Hz
– ทูบา / ฮาร์พ สนองความถี่ช่วงต่ำลึกได้ถึง 30Hz
– ดับเบิ้ลเบส สนองความถี่ช่วงต่ำลึกได้ถึง 30Hz
– ฮาร์ปซิคอร์ด สนองความถี่ช่วงต่ำลึกได้ถึง 40Hz
– เบสกีต้าร์ สนองความถี่ช่วงต่ำลึกได้ถึง 40Hz
– อคูสติค อิเลคทริกกีต้าร์ สนองความถี่ช่วงต่ำลึกได้ถึง 80Hz
– เฟรนซ์ฮอร์น / ทรอมโบน / บาสซูน สนองความถี่ช่วงต่ำลึกได้ถึง 60Hz
– เทนเนอร์แซ็กซ์ สนองความถี่ช่วงต่ำลึกถึง 120Hz
แม้แต่เสียงร้องของศิลปินนักร้องชายก็สนองตอบความถี่ช่วงต่ำลึกได้ถึง 100Hz
ดังนั้น เราก็คงต้องมาวิเคราะห์ สิ่งที่เราได้ยินจากระบบลำโพง-เครื่องเสียงของเราว่า มันสนองความถี่ต่ำได้พอเพียงจริงไหม ถ้ารู้สึกว่า พอแล้ว ลำโพงสตูดิโอคู่เดียวก็ถือว่าจบ
แต่ถ้าไม่… ตรงนี้ ก็ตัดสินใจว่า จะเพิ่ม Active Sub-Woofer หรือไม่ แล้วแต่ความรู้สึกของเราจะกำหนดลงไปครับ
ถ้าสมมุติว่า ต้องเพิ่มความถี่ต่ำด้วย Active Sub-Woofer ซึ่งมันจะมีหลักต้องพิเคราะห์ อีกพอสมควร ผทจะมานำเสนอกันต่อในตอนถัดไป ใน The Light of Audiophile ตอนที่ 6 ครับ