AUDIO GD R-8 MK2 R2R DAC

0
1671

AUDIO GD R-8 MK2 R2R DAC

เสียงสะอาด รายละเอียดระยิบระยับ

           การเล่นเครื่องเสียงในยุคดิจิตอลน่าจะพ้นเรื่องของการถอดรหัส หรือภาค DAC ไปได้ยาก เรื่องราวของดิจิตอลที่สลับซับซ้อน ถ้าไม่เรียนรู้ก็จะตามไม่ทัน ล้าหลังเอาง่ายๆ แต่ถ้าเรียนรู้มากอาจจะสนุกและปวดหัว จนรู้สึกว่าการเล่นเครื่องเสียง ไม่เพลิดเพลินเสียแล้ว

           ดังนั้นอยากให้ท่านศึกษาสิ่งใหม่ๆ ก็เพื่อจะได้ตามทันเทคโนโลยี และรู้อย่างที่เราเป็นคนเล่นเครื่องเสียง ไม่ใช่คนทำเครื่องเสียง เพราะปลายทางที่สุดแล้ว เราคงเอาเหตุผลทางเทคนิคมาทำนายทายทัก หรือคาดหวังในคุณภาพเสียงไม่ได้

            ในยุคที่เราเล่นเครื่องเล่นคอมแพคดิสก์เป็นหลัก ก็ย่อมรู้ว่าภาค DAC หรือตัวถอดรหัสดิจิตอล เป็นอนาล็อกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องเล่นดังกล่าว มันเป็นการรับสัญญาณเชิงเลข รหัสฐาน 2 มาแปลง

            ในกรณี เครื่องเล่นซีดี เมื่อหัวอ่านลำแสง จับหลุมพิทช์ข้อมูลในแผ่นได้ ก็จะส่งข้อมูลที่ได้ไปให้ภาค DAC ถอดรหัสออกมา เป็นเสียงอนาล็อกให้เรานำมาขยายต่อได้

            ต่อมามีผู้ผลิตไฮเอ็นด์จับประเด็นว่า ถ้าจับแยกภาคกลไกขับหมุน หรือ CD Transport ออกมาต่างหาก แล้วส่งผ่านสัญญาณ ไปให้ DAC ภายนอก ก็สามารถพัฒนาคุณภาพที่ดีและเที่ยงตรงยิ่งกว่าได้

            ในยุคปัจจุบันต่างออกไป เพราะเปลี่ยนมาเป็นระบบการเล่นไฟล์เพลง และก้าวกระโดดขึ้นไปจนถึง Hi-Res ในคอมพิวเตอร์ออดิโอ

            และยิ่งง่ายดายเข้าไปอีกคือ การมีผู้ให้บริการสตรีมมิ่งทางอินเตอร์เน็ตให้เลือกฟังอย่างหลากหลาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกอย่างจะต้องผ่านการแปลงรหัสทั้งสิ้น และไม่ว่า DAC จะเป็นแบบรวมอยู่ในแอมป์ ในเครื่องเล่นสตรีมมิ่ง ออลอินวัน หรือจะเป็นเครื่อง DAC ที่แยกออกมาในระดับ ไฮเอ็นด์แบบ AUDIO GD นี้

            รูปแบบของการแปลงรหัสด้วย DAC นี้ ผู้ผลิตส่วนใหญ่นิยมใช้ชิปสำเร็จรูปจากผู้ผลิตชิปโดยตรง เพราะสะดวกกว่า และสามารถที่จะนำมาออกแบบส่วนร่วมในวงจร และภาคจ่ายไฟให้ดียิ่งขึ้นได้

           แต่ระยะหลังมีผู้ย้อนกลับสู่กระบวนการออกแบบ ด้วยการนำรีซิสเตอร์ อุปกรณ์ตัวต้านทาน มาต่อพ่วงกันแบบขั้นบันได เพื่อแปลงค่าสัญญาณทางไฟฟ้าของระบบดิจิตอลให้เป็นค่าทางไฟฟ้าสัญญาณอนาล็อก ซึ่งมีข้อดีตรงสามารถออกแบบให้มีคุณภาพเสียงในแบบที่ต้องการ (ไม่ใช่เสียงสำเร็จรูป) แต่ก็ต้องเสี่ยงกับการคัดเกรด และแมตช์ตัวต้านทาน ว่า ผิดพลาดก็คือเละ ทันทีเหมือนกัน

           และนี่ก็คืองานฝีมือ ดิจิตอล ระดับประณีตศิลป์ละครับ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า AUDIO GD แบรนด์จากนักออกแบบชาวจีนระดับโลก ที่มาจากแนวโมดูล ดีไอวาย จะทำได้สำเร็จและเติบโตด้านยอดขายอย่างรวดเร็ว นำหน้าแบรนด์ดังแทบไม่เห็นฝุ่น

           เพราะ AUDIO GD คือของดี ราคาสมเหตุผลจริงแท้ แต่เดิมทาง AUDIO GD เค้าเริ่มด้วยการผลิตโมดูล DAC นี้ จำหน่ายให้กับนักเล่น DIY ทั่วไป ก่อนที่จะมาผลิตเป็นเครื่องแยกชิ้นเป็นเรื่องเป็นราว

            รุ่นที่ผมเคยทดสอบก่อนหน้านี้ คือ AUDIO GD R1 R2R DAC (อ่านได้จาก https://www.thewave-online.com/test-report/audio-gd-r1-r2r-dac/)

            ซึ่งทุกอย่างใช้หลักการเดียวกัน เพียงแต่ในรุ่น R-8 MK2 R2R DAC จะออกแบบที่มีความละเอียดซับซ้อนกว่า มีโมดูลของ DAC มากกว่า และแน่นอนว่ามีความสามารถในการขจัดรอยต่อหรือค่าเหลื่อมเวลาของดิจิตอล (Jitter) ได้ดียิ่งกว่า ผลสำเร็จตรงนี้ คือเครื่องหยั่งวัดคุณภาพเสียง และทาง AUDIO GD ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ

            เป็นเวลา 3 ปีมาแล้ว ที่ R-8 เปิดตัวในปี 2018 มีการอัพเดตเฟิร์มแวร์อย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงคุณภาพเของ R-8 จนกระทั่งมาเป็นรุ่น MK2 ที่ได้รับการออกแบบและทดสอบเมื่อต้นปี 2020 ตามมาด้วยระยะเวลาอีกหนึ่งปีในการทดสอบอย่างต่อเนื่อง

           มีการปรับแต่งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์อย่างละเอียด พัฒนาการใช้แหล่งจ่ายไฟเซอร์โวแบบแยกอิสระแบบใหม่ ในส่วนวงจรอนาล็อกใช้พลังงานจากแหล่งจ่ายไฟเพียวคลาส A บริสุทธิ์เพื่อให้ได้เสียงที่ดีที่สุด

            วงจรแปลงรหัสในภาคอนาล็อก เป็นดิจิตอลแบบ Truly Balanced  ที่มีชุดตัวถอดรหัสฮาร์ดแวร์ DSD แบบแยกอิสระสี่ชุด โมดูล R-2R DA แบบแยกส่วนทั้งหมดอีกแปดชุด เพื่อสร้างตัวถอดรหัสแบบพุชพูลชนิดสมดุลสำหรับระบบสเตอริโอ

            ภาคจ่ายไฟอันเป็นหัวใจหลักมีความเสถียรสูงยิ่ง และมีรายละเอียดด้านเทคนิค ค่อนข้างมากครับ

           ผมได้พยายามอ่านรายละเอียดเทคนิคต่างๆ ของ AUDIO GD อยู่หลายสัปดาห์ ในแนวคิดของผู้ออกแบบจากนักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ออดิโอชั้นยอด แต่จนแล้วจนรอดก็คงไม่สามารถนำทั้งหมดมานำเสนอได้ เพราะเป็นรายละเอียดเชิงเทคนิคค่อนข้างมาก ถึง 8 หน้ากระดาษ ดังนั้นจึงขอสรุปให้เห็นได้ชัดลึกง่ายขึ้นว่า

            AUDIO GD R-8 MK2 R2R DAC ออกแบบวงจรให้ทำงานแบบบาลานซ์ ตลอดเส้นทางเดินสัญญาณอย่างสมบูรณ์แบบ หรือ Fully Balanced โมดูลถอดรหัส ที่แปลงข้อมูล นั้นคือการใช้รีซิสเตอร์ ต่อพ่วงกันไปในเชิงขั้นบันได ในทางเทคนิคคือเป็นโปรแกรม DSP เขียนบน FPGA เพื่อให้การถอดรหัสที่มีรูปแบบเชิงชั้นและการควบคุม และเลือกการแซมปลิ้งตามรสนิยมเสียง คาแรคเตอร์เฉพาะได้

            ผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านคอมพิวเตอร์มากนัก (รวมทั้งผมด้วย) ก็ขอเรียนว่า FPGA เป็นตัวย่อของคำว่า Field-Programmable Gate Arrays มันเป็นลักษณะโปรแกรมเมอร์ชนิดหนึ่ง ที่ใช้สำหรับการดีโค้ดสัญญาณ ชี้ตำแหน่งในระบบดิจิตอล

โดยสรุปทางเทคนิคที่สำคัญของ AUDIO GD R-8 MK2 R2R DAC ก็คือ

1. มีการแยกส่วนอุปกรณ์ภายในอย่างเป็นอิสระ เพื่อออกแบบภาคจ่ายไฟให้สมดุลอย่างแท้จริง มีโมดูลชุด DSD Decoder มีจำนวน 4 ชุด แยกส่วนอย่างชัดเจนเป็นอิสระ และใช้ชุด R-2R DA โมดูลแยกส่วนอิสระ 8 ชุด เพื่อทำงานแบบ 2 แชนแนล ในระบบ บาลานซ์ (Balanced push-pull decoder)

            ส่วนภาคเพาเวอร์ซัพพลายใช้แบบ Servo stabilized สำหรับวงจร DA ทำให้ปลอดจากเสียงรบกวน เพื่อความอิ่มฉ่ำของเสียงเป็นธรรมชาติ และยังช่วยให้เครื่องทำงานโดยมีความร้อนน้อยกว่าเครื่องในเจเนอเรชั่นเดิม วงจรอนาล็อกยังคงใช้ไฟจากภาคเพาเวอร์ซัพพลายแบบ Pure Class A ทำให้ได้ความเป็นดนตรีระดับสุดยอด

2. เพื่อให้เสียงคืนความเป็นอนาล็อก และมีบุคลิกที่เลือกได้ ทีมงานได้เพิ่มคุณสมบัติของเสียงแบบอนาล็อกจากแผ่นเสียงเข้ากับผลิตภัณฑ์นี้ ซึ่งสามารถเลือกฟังเสียงแบบนี้จากแผงควบคุมหน้าเครื่อง (แบบเลือกแซมปลิ้งเรตตามใจชอบได้)

3. ชุดอินพุตแบบ USB และ HDMI ถูกติดตั้งแบบแยกส่วนด้วยเพาเวอร์ซัพพลาย 2 ชุด แยกจ่ายกระแสให้กับชุดโมดูลของ USB และ HDMI ก่อนเข้าสู่ Isolators ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการรบกวนของสัญญาณจากแหล่งโปรแกรม

4. มีจอแสดงผลแซมปลิ้งเรตฟังก์ชั่นของสัญญาณขาเข้า

5. มีวงจรดิจิตอลของชุด DAC ทั้งหมดประกอบด้วยวงจร FPGA = 1 ชุด และวงจร CPLD = 5 ชุด (ทั้งหมดสามารถตั้งค่าใหม่ได้) ออกแบบแยกกันทั้งวงจรทำงาน และชุดป้องกันการกวนสัญญาณระหว่างกัน

6. มีระบบบริหารจัดการควบคุมสัญญาณเหลื่อมเวลา หรือระบบ Ultra-low jitter clock อันเป็นหัวใจของการถอดรหัสที่เที่ยงตรง ซึ่งมีความถี่ 90MHz และ 98MHz ที่ประสานการทำงานของทุกชิ้นส่วน และสามารถเล่นข้อมูลทุกดาต้า โดยบริหารจัดการ “Clock” ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมใหม่ในเครื่อง ทำให้ได้มาซึ่งเสียงที่ใสกระจ่าง เปิดเผยรายละเอียดได้อย่างหมดจด

7. สำหรับข้อมูล DSD จะใช้ตัวควบคุมจังหวะเวลา Asynchronous clock ในการเพิ่มความแม่นยำของ timing ซึ่งช่วยสร้างความสดใสของเสียง และให้ไดนามิคอย่างครบถ้วน

8. SPDIF รองรับการเล่น DOP

9. การปรับตั้งค่าดิจิตอลโหมดทั้งหลาย สามารถปรับเปลี่ยนได้จากแผงด้านหน้าเครื่อง

10. มีช่องเสียบสำหรับอัพเกรดเฟิร์มแวร์ที่ด้านท้ายเครื่อง จึงหมดความจำเป็นที่จะต้องเปิดฝาเครื่อง เพื่ออัพเกรดเฟิร์มแวร์เช่นเครื่องบางแบรนด์

มีภาคเพาเวอร์ซัพพลายอันทรงพลัง

            โดยภายในติดตั้งทรานสฟอร์เมอร์แบบ R-core ประสิทธิภาพสูง 3 ตัว กำลังไฟรวม 135 วัตต์ และมี ระบบกรองไฟด้วย คาปาซิเตอร์ ระดับ Audio grade 30,000 uF (ไมโครฟารัด) เพื่อให้ความบริสุทธิ์ของกระแสจากภาคจ่ายไฟ

           ภาคจ่ายไฟ DC สำหรับวงจรดิจิตอลมาจากชุด PSU เป็นแบบ อัลตร้าไฮสปีด ค่าสัญญาณรบกวนต่ำจำนวน 9 ยูนิต

            ส่วนภาคจ่ายไฟ DC สำหรับส่วนอนาล็อกจะมาจาก PSU เพาเวอร์ซัพพลายแบบ Class A จำนวน 4 กลุ่ม เพื่อป้อนกระแสไปยังภาคอนาล็อกเอาต์พุต ทั้ง 4 กลุ่ม แยกกันเป็นอิสระ เพื่อให้ประสิทธิภาพไม่ต่างจากการใช้ไฟจากแบตเตอรี่ โดยแยกกันจ่ายกระแสให้กับภาคดิจิตอล และอนาล็อก แต่ละโมดูล อย่างเป็นอิสระจากกัน

            การจัดวางในตัวเครื่อง มีการใช้แผ่นเพลทอลูมิเนียมหนา 5 mm กั้นแยกส่วนดิจิตอล, ภาคอนาล็อกของแชนแนลซ้ายและขวา และส่วนทรานสฟอร์เมอร์ เพื่อป้องกันการเกิดสัญญาณกวนซึ่งกันและกัน ภาคอนาล็อกของแชนแนลซ้ายและขวา ถูกจัดวางอย่างสมมาตร

            และขนาบข้างด้วยอุปกรณ์ส่วนดิจิตอล โดยมีขนาดและระยะของทางเดินสัญญาณเท่ากันพอดี ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่สมดุลและแม่นยำ ส่วนโมดูล DA7 ถูกติดตั้งอยู่ระหว่างเพลทอลูมิเนียม 2 แผ่น เพื่อป้องกันการรบกวนจากวงจรส่วนอื่น กระบวนการจัดวางและการติดตั้งถูกออกแบบอย่างพิถีพิถัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้เสียงที่ใสกระจ่างและบริสุทธ์อย่างแท้จริง ข้อสำคัญคือจะได้ความกว้างของเวทีเสียงที่มากขึ้นอีกด้วย

            AUDIO GD R-8 MK2 R2R DAC มีขนาดตัวถังเครื่องแบบโลหะหนาป้องกันการรบกวน ขนาดใหญ่ทีเดียว คือ หน้ากว้าง 17 นิ้ว ลึก 17.5 นิ้ว แต่ความสูงเพียง 3 นิ้ว ในดีไซน์นี้รู้สึกได้เลยว่าเครื่องมีความบางและสวยงามดีทีเดียว

           หน้าปัดเรียบง่ายมาก นอกจากปุ่มปิด-เปิดเครื่องแล้ว ก็จะมีดิสเพลย์จอสีฟ้าขนาดย่อม ปุ่ม Setting และ Selector เลือกค่าเซ็ตอัพ ถ้าท่านได้อ่านบททดสอบ R1 แล้ว ก็จะเข้าใจรูปแบบการสั่งงาน และเซ็ตอัพ ที่แสดงผลบนจอดิสเพลย์ครับ ค่าหลักๆ คือ การเลือก ปรุงเสียงในแบบโอเวอร์แซมปลิ้ง OS (Oversampling) ที่ปรับได้ 2-4-8 เท่าตัวของอินพุตที่ได้รับมา หรือ NOS (Non-Oversampling) เท่าที่ฟังตลอดการใช้งาน ชอบมาทาง Non-Oversamplingมากกว่าครับ เรื่องตัวเลขก็คงเป็นส่วนของตัวเลขคงต้องดูเฉพาะบางเพลงที่เหมาะสมเท่านั้นที่ควรจะโอเวอร์แซมปลิ้ง

            ด้านหลังเครื่อง แยกช่องเอาต์พุตอนาล็อก ซ้ายขวาห่างออกจากกัน มีทั้ง RCA ช่องบาลานซ์สองแบบ คือ XLR และ ACSS ช่องอินพุตจากแหล่งดิจิตอลต้นทาง IN1, IN2, IN3, IN4, IN5, IN6 ซึ่งจะมีทั้งออพติคัล โคแอ็ค  HDMI, USB, AES, EBU และมีช่องอัพเดทพอร์ต ครบครัน ช่องต่อสายไฟ แบบปรับเปลี่ยนได้

            AUDIO GD R-8 MK2 R2R DAC นั้น สามารถตอบรับกับไฟล์ได้ในหลายระดับ คือจากไฟล์ซีดีไปจนถึงไฮเรส โดยในกรณีเล่นไฟล์ทางช่อง USB และ HDMI จะตอบรับสัญญาณแบบพีซีเอ็ม จาก 44.1KHz ไปจนถึง 384KHz หรือรับสัญญาณ DSD ถึง DSD 512 ทางออพติคัล รองรับสัญญาณพีซีเอ็ม 44.1-96 KHz และช่องโคแอ็ค จะรองรับสัญญาณพีซีเอ็ม 44.1-192 KHz

            เป็น DAC ที่มีคุณภาพสูงและสนองตอบต่อสัญญาณดิจิตอลครบถ้วนทีเดียว

Test Report

           การใช้งานเครื่อง DAC ที่ตอบรับไฟล์จากแหล่งดิจิตอลครบถ้วนสมบูรณ์แบบเช่นนี้สำหรับคนเล่นอย่างผมต้องบอกว่าใช้ได้ไม่ครบถ้วนทั้งหมดหรอกนะครับ จะเลือกหยิบที่เราถนัดที่สุดอย่างเช่น CD Transport และไฟล์เพลงที่เก็บไว้ในรูปของวัตถุดิบหลักจากไฟล์ในคอมพิวเตอร์ ที่จะส่งผ่านมาทาง USB  ส่วนสตรีมมิ่งก็เน้นความสะดวกผ่านทางเครื่องสตรีมเมอร์ และใช้บริการ Tidal เจ้าประจำ ที่ไม่ได้ใช้ระบบที่สลับซับซ้อนมากนัก (ทั้งๆ ที่ AUDIO GD R-8 MK2 R2R DAC ทำงานได้กว้างขวางมาก)

            การได้เล่น AUDIO GD R-8 MK2 R2R DAC จะมีข้อคิดอยู่อย่างหนึ่ง ก็คือทำให้เรารู้ว่ากระบวนการดิจิตอล กับการฟังเพลงอย่างมีคุณภาพ นั้นไม่สามารถที่จะแยกแยะออกจากกันได้อีกแล้วจริงๆ

           จากการทดสอบฟังในภาคปฏิบัติที่ผมเก็บไฟล์ รายละเอียดขนาด 384KHz หรือ DSD ในการทำเพลงของผมเอง และไฟล์ที่ได้จากมาสเตอร์เพลงในห้องบันทึกเสียง สองสามแห่งนั้น พบว่าตัวเลขไม่ใช่ประเด็นว่ามันจะต้องให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า 44.1 หรือ 96KHz เสมอไป

            ผมว่ามันขึ้นอยู่กับรายละเอียดและคุณภาพที่เจ้าของเพลง หรือค่ายเพลงแต่ละสตูดิโอ ตั้งใจบันทึกเพลงของเขาสักแค่ไหนมากกว่า

            ไฟล์เพลงขนาด 44.1 บางเพลง ก็ให้เสียงที่มีรายละเอียดเหลือพอแล้ว มีความเนียนไพเราะกว่าไฟล์เพลงที่มีรายละเอียดสูงๆ ของบางค่ายด้วยซ้ำไป อันนี้ AUDIO GD R-8 MK2 จัดว่าเป็นเสมือน “เครื่องมือ” ในการอธิบายรายละเอียด และความเป็นดนตรีของไฟล์เพลงได้เป็นอย่างดี 

           เพราะเสียงที่ได้จากการถอดรหัสแม่นยำมาก เข้าไปใกล้เคียงอุดมคติมากขึ้น ของ R-8 MK2 จะถึงขนาดแจกแจงความสามารถคนทำเพลง หรือซาวด์เอ็นจิเนียร์ได้เลยครับ

            ผมอยากเปรียบเทียบว่า R-8 MK2 มีราคาเพียง 75,000.- บาท แต่เสียงมันเกินเครื่อง DAC ราคาแสนของในตลาดไปแล้วละครับ

            รุ่นที่ผมเคยทดสอบคือ AUDIO GD R1 R2R DAC ราคาสามหมื่นห้าพัน ผมว่าสุดจะคุ้มค่าแล้วนะครับ แต่ฟัง AUDIO GD R-8 MK2 มันเป็นการยกระดับรายละเอียด และฟอร์มของเสียงขึ้นไปเกินเท่าตัวเลย เป็นความน่าประทับใจมาก !!!

            สิ่งที่โดดเด่นมากคือ รายละเอียดช่วงบนจนสุดปลายแหลมระยิบระยับและฉ่ำ เสียงกลางที่แม่นยำ อิมเมจ จุดตำแหน่งดนตรี นับว่าสุดๆ เลย คนที่ชอบเสียงอุ่นของเครื่องดนตรี ต้องชอบใจมาก เพราะ AUDIO GD R-8 MK2 ให้ความสว่างชัดเจน แต่ช่วงเบสก็อบอุ่นนุ่มลึกเป็นชิ้นเป็นอันแบบอนาล็อกอย่างน่าทึ่งครับ

            ใครที่ฟังเพลงแนวคลาสสิกจะรู้สึกได้ถึงช่องไฟดนตรีแต่ละชิ้นของ R-8 MK2 นี่งดงามมาก แม้แต่เพลงจากการสตรีมมิ่ง จาก TIDAL  ที่สตรีมไฟล์ระดับเดียวกับ CD ในอัลบั้ม Ein Straussfest / Ein Straussfest II ทั้งสองชุด บอกถึงรายละเอียดที่หยุมหยิมยิบย่อย มากมายเหลือเชื่อเลยทีเดียว ฟังตรงนี้อาจจะรู้สึกว่า เสียงเลยข้ามแผ่นซีดีได้เลย โดยปราศจากข้อจำกัดใดๆ ให้ต้องมาวิพากษ์วิจารณ์กันอีกต่อไป

            เพลงในระดับรายละเอียดสูงเกิน 96KHz รวมทั้งไฟล์ DSD ที่ฟังผ่านมาทางคอมพิวเตอร์ หรือทางช่อง USB โดดเด่นเรื่องรายละเอียด และ AUDIO GD R-8 MK2 มีอีกสิ่งหนึ่ง ที่ผมประทับใจคือ ให้โทนัลบาลานซ์เสียงดีมากๆ ดีกว่าที่ผมเคยฟังผ่านมา เป็นไปได้ว่า ถ้าจะอัพเกรดให้ได้เสียงเยี่ยมกว่านี้ น่าจะไม่ง่ายอีกแล้วสำหรับ DAC ระดับแสนบาท

            AUDIO GD R-8 MK2 เป็นตัวอย่างของ DAC ที่ยอดเยี่ยมมาก ในการพัฒนาเทคโนโลยี R2R DAC ที่ให้คุณภาพเสียงคุ้มค่าน่าประทับใจ อย่างที่สุด โดยเฉพาะในแง่รายละเอียดที่หาตัวจับยาก แม้กระทั่ง DAC ระดับราคาแสนก็ไม่แน่นักหรอกว่าจะให้เสียงเทียบเคียงได้

            ไม่ทดลองฟังวันนี้ คุณจะเสียดายไปอีกนานแสนนานครับ

สนใจทดลองฟัง หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

ร้าน Msound   โทร. 096-978-7424

ร้าน HiFi House สาขาหาดใหญ่  โทร.096-978-7424

ร้าน เต่า ออดิโอ กทม.  โทร. 088-005-5156

ร้าน เพื่อนกันไฮไฟ ชลบุรี   โทร. 081-982-0282

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here