Octave V80SE ความสวยงามเกินบรรยายในเสียงหลอด

0
7042

Octave V80SE

ความสวยงามเกินบรรยายในเสียงหลอด

   อันที่จริงผมควรได้พรีวิวอินทีเกรเต็ดของ Octave รุ่นนี้ ให้ได้อ่านกัน เมื่อสองสัปดาห์ก่อน แต่ติดขัดตรงที่ ยังป่วยไข้ ก็เลยไม่สามารถรจนาอักษร ได้ดังใจต้องการ

   ตอนนี้ พร้อมแล้วละครับท่าน

     Octave V80 นี้ผมได้ทดสอบและฟังมาหลายครั้ง หลังสุดนี้ คือรุ่นใหม่ที่มีการปรับโครงสร้างบอร์ดและหลอดใหม่ทั้งหมดเป็นรุ่น SE หรือ Special Edition ในครั้งนี้ก็เลยถือโอกาส จับคู่เข้ากับลำโพงที่แตกต่างออกไปดูบ้าง ซึ่งก็ได้ประสบการณ์ที่น่าบอกเล่าเพิ่มขึ้น

   ลำโพงที่ใช้เป็นหลักแต่เดิมคือ Harbeth Acoustic P3ESR 40th Anniversary / Gauder Akustik Arcona 40 / Acoustic Energy AE500 และครั้งหลังสุดคือ ATC SCM40 ดังนั้น บทสรุปจากการเล่นลำโพงที่หลากหลาย ก็จะทำให้เราเข้าใจแอมป์หลอดแห่งยุคสมัย Octave ได้ดียิ่งขึ้น สรุปได้ตรงประเด็นขึ้นด้วย

    ความแตกต่างจาก รุ่น V80 เมื่อเปลี่ยนมาเป็นรุ่น V80SE ที่เห็นชัดคือจากหลอด 6550 แต่เดิม จะเปลี่ยนมาเป็น KT150 ที่จะให้น้ำเสียงอิ่มละมุนขึ้น มีพละกำลังในแบบของเขามากขึ้น

     อันที่จริงแล้ว แต่เดิมอินทิเกรทแอมป์ V80 เป็นแอมป์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่หมดโดยนำเอาแนวคิด output stage ของ OCTAVE MRE 130 mono amplifier มาใช้ ซึ่งมีบุคลิกเสียงที่โดดเด่น หวานไพเราะอย่างเหลือเชื่อ ประสิทธิภาพที่หาตัวเทียบยาก

   ยิ่งได้ปรับปรุงใหม่ขึ้นเป็น V80SE ก็จะให้ความล้ำลึกมากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ

    เป็นแอมป์หลอดที่มีความสามารถในการถ่ายทอดเสียงดนตรีทุกประเภทออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติตามประเภทของดนตรี มีพลังกระฉับกระเฉง เสียงที่มีความอบอุ่น เวทีเสียงที่มีมิติชัดเจน

    มันเป็นแอมป์ที่สามารถดึงดูดผู้ฟังได้ทันทีที่สัมผัสเสียงที่ถ่ายทอดออกมา เนื่องจาก V80SE สามารถให้เสียงดนตรีได้อย่างลื่นไหลและรื่นรมย์ และให้ความสุขแห่งเสียงเพลงอย่างแท้จริง

“วัตต์ที่เป็นมากกว่าวัตต์“ ที่จุดไดนามิกพีค (dynamic peak) นั้น ขณะที่แอมป์อื่น ๆ เริ่มจะอ่อนเปลี้ยเพลียแรงไปไม่รอด แต่ V80SE กลับส่งพลังความแรงต่อไปได้อย่างกระฉับกระเฉง ทั้งนี้ ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ V80 รุ่นแรกเคยได้รับรางวัล “Jazz Component Award” อันทรงเกียรติที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2008 (ในฐานะเครื่องเสียงต่างประเทศที่ดีที่สุด)

 และในปีถัดมาได้รับรางวัล The Pure Audio Grand Prix Award ในปี 2009 ไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญ

    การพัฒนารหัส V80SE ขึ้นมา เหมือนการจัดโครงสร้างใหม่ ใช้หลอดเบอร์ใหม่ ยกขึ้นสู่รุ่น Top สุดของซีรีย์ในทันที  นิตยสารสเตอริโอไฟล์นำไปเทสท์รีพอร์ท ก็ชื่นชมเอาไว้ไม่น้อยเลยละครับ

    คุณสมบัติด้านเทคนิคและโทนเสียงของ V80SE เหนือกว่ารุ่น V 40SE และ V 70SE  รวมถึง V110 มาก และทำงานด้วยตัวมันเองโดยไม่ต้องมีอุปกรณ์อื่นเสริม เพราะ V80SE ถูกสร้างมาสำหรับนักฟังที่ไม่ต้องการที่จะติดตั้งปรีแอมป์และพาวเวอร์แอมป์เครื่องใหญ่ ๆ เพิ่มเติมให้ยุ่งยาก

    แต่เป็นนักเล่นที่มีความคาดหวัง และมีความต้องการสูงสุดในแง่ของคุณภาพเสียง และฟังก์ชั่นการใช้งานของซิสเต็ม

ในฐานะอินทิเกรตแอมป์ระดับ top of the line ของ OCTAVE แล้ว V80SE มีคุณสมบัติการใช้งานสำหรับความบันเทิงในดนตรีสมัยใหม่ที่ครบถ้วน ผู้ใช้จึงสามารถต่อเชื่อมได้อุปกรณ์ที่หลากหลายและมีความสะดวกจบในเครื่องเดียว

  หากต้องการบอร์ดภาค Phono สามารถซื้อออพชั่นเพิ่มเติมได้

   เครื่องที่ผมนำมาทดสอบเป็นสีดำ (มีสีเงินให้เลือก มีอินพุตเฉพาะภาค Line)

   On Test

     จริงอยู่ คุณภาพเสียง เหมือน นามธรรมยากจะแจกแจงให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพพจน์ได้ง่ายๆ ผมจะพยายาม บรรยาย ให้เข้าถึงบุคลิกและศักยภาพเท่าที่จะเป็นไปได้ครับ

   ความสามารถในการขับเสียงของลำโพงที่หลากหลายอันนี้ก็ต้องยอมรับว่า V80SE ทำได้ถึงขั้นจริงๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นลำโพงรุ่นหรือแบบใดก็ตามสามารถควบคุมบังคับให้เป็นไปดังใจนึก จากลำโพงวางขาตั้งจนถึงลำโพงวางพื้น

   เปิดรัน สักหนึ่ง ถึงสองนาที แล้วจึงมานั่งฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ เสียงที่ได้แค่แรกฟัง ก็ว้าว แล้วละครับ กำลังขับ ขอ

บอกว่า อิ่มเอม มาก!

     เรียกว่าจะหาจุดด้อยในเรื่องของพลังที่ส่งต่อเนื่องได้ยากเต็มที ทั้งที่โดยปกติแอมป์หลอดมักจะมีปัญหาในเรื่องของ   ไดนามิคอยู่บ้างเมื่อมีอัตราการสะวิงสูงในกรณีฟังเพลงคลาสสิก เพลงจากซาวนด์แทร็กซ์ภาพยนตร์ บรรเลงด้วยวงออเคสตร้าที่มีความแรง และผ่อนเบาเป็นช่วงๆ V80SE ทำได้ยอดเยี่ยมมากครับ

    จุดเด่นเรื่อง ปลอดจากสัญญาณรบกวน นี่คือแอมป์หลอดไม่กี่แบรนด์ในโลก ที่คุณจะปลอด Noise ได้อย่างหมดจดจริงๆ ครับสำคัญอีกประการหนึ่ง ระบบโพรเท็คชั่น ของเครื่องสุดยอดมาก ไม่กลัวการช็อตของสายลำโพง ในกรณีที่ คุณเผลอพลาดพลั้งไปทำให้ขั้วลำโพงบวกลบแตะกันโดยไม่ตั้งใจ

       การปรับค่าไบอัสหลอดสามารถทำได้ด้วยตัวของเราเองจากหน้าเครื่อง ง่ายมาก ไม่ต้องอาศัยช่าง ผู้ชำนาญการใดๆ ลักษณะการจ่ายไฟให้วงจรจะเป็นแบบซอฟท์ คือจะให้ไฟค่อยๆเลี้ยงวงจรหลอด ดังนั้น เราอาจจะต้องรอนิดนึงหลังจากเปิดเครื่อง เพื่อเป็นการทะถนอมหลอดให้ใช้งานได้เฉียดสิบปี โดยไม่ต้องเปลี่ยนหลอดบ่อยครั้ง

       ผมชอบบุคลิกความหวานอุ่นของแอมป์มากครับ คือ ไม่ใช่เสียงแนววินเทจโบราณที่นุ่มเนียนช้า แต่นุ่มเนียนมีพลัง คู่กันไปได้ทั้งพลังไดนามิคและฮาร์โมนิกสวยๆ งดงามกับเพลงหลากประเภทจากคลาสสิก พ็อพ แจ็ซ ไปจนถึงร็อคสนุกๆ ทำได้น่าทึ่ง

  เพลงร้องจากนักร้องคนโปรดในกลุ่มออดิโอไฟล์ ไม่ว่า จะเป็น คุณนายไช่ฉิน เติ้งลี่จวิน เจนนิเฟอร์ วอร์น จานิส เอียน ลินดา รอนสตัทด์

  โดนเฉพาะอัลบั้ม What’S new ของลินดา รอนสตัทด์ นี่ด้วยแล้ว ผมยังไม่เคยได้ฟังแอมป์ตัวไหนให้เสียงหวานอุ่นละไม และ รูปวงออเคสตร้า ที่ดูยิ่งใหญ่ขนาดนี้ เป็นโชคดีมากที่หยิบอัลบั้มนี้มาฟัง ก่อนจะไปฟังเสียง อ้อนๆ ของ เคนนี่ โรเจอร์ที่ผมชอบ ทำให้โฟกัส เวทีเสียง ช่องว่าง และทรวดทรงดนตรี แจ่มขึ้นมาก ครับ ขอยืนยัน ในท่ามกลางรายละเอียดและความสะอาดเสียง

    ปกติแอมป์หลอดขับลำโพง มักจะเลือกคู่ที่ตรงกับมัน ถึงจะออกมาดี แต่ ทว่า เจ้า Octave V80SE นี้ เล่นจับคู่ลำโพงแบบไม่เกี่ยงอะไรทั้งสิ้น เคยฟังมันขับลำโพง B&W 800 Series ได้ทุกรุ่น จากเล็กไปใหญ่สุด จึงนับว่า โอเคมากๆ สำหรับคนที่ไม่อยากกระโดดเล่น ปรีเพาเวอร์แยกชิ้น

   กำลังขับในระดับ 130 วัตต์ต่อช่องเสียงที่ค่าความต้านทานสี่โอมก็ถือว่าพลังอัดฉีดดีขึ้นมากกว่ารุ่น V110 และ V70SE หรือแม้แต่รุ่นเดิมของมันเองก็คือ V80 ธรรมดาขึ้นมามากมายพอสมควร

    ผลในเรื่องวงจรของหลอดและเบอร์หลอด นั้นทำให้เสียงมีความเปลี่ยนแปลง มากขึ้น พลังแฝงที่มีความเด็ดขาดกว่าทุกรุ่น ละมุนขึ้น โรแมนติก กว่า สังเกตุได้จากเสียงเบสที่เป็นรูปทรง มากยิ่งขึ้น เราก็เทใจให้แล้วครับ

  และการปิดท้ายด้วยการขับลำโพงตั้งพื้นซึ่งค่อนข้างจะเที่ยงตรงอย่ามากอย่าง ATC SCM  40 ก็ทำให้ Octave V80SE นี้ สามารถแสดงศักยภาพของทั้งลำโพงและเครื่องออกมาพร้อมกันได้อย่างสมบูรณ์สูงสุด

    ส่วนใครที่อยากเสริมความยอดเยี่ยมมากขึ้นไปอีก ในวันหน้า ผมแนะนำเลยคือเสริม Super Black Box เข้าไป ทีนี้ละครับ ต้องบอกว่าไปได้สุดขั้วจริงๆ ไม่จำเป็นต้องขยับไปยัง ปรี เพาเวอร์แต่อย่างใด

กรณีช่องต่อ อินพุต แบบ XLR และ RCA ที่อาจจะมีคอมเม้นท์ที่น่าสนใจกันมานาน ว่า ช่องไหนดีกว่า ผมก็ยังยืนยันว่าความต่างไม่ได้มากมาย แค่ว่า ช่อง XLR เสียงช่วงเงียบ หรือเสียงแผ่วเบาจะดูแม่นยำ พื้นเสียงสงัดกว่า ในขณะที่ช่อง RCA อาจจะฟังความพลิ้วเสียงในช่วงปลายค่อนข้างโอเคกว่า

    แค่นี้ ก็เกินพอ สำหรับ คอไฮเอ็นด์ที่อยากหาแอมป์หลอดที่ยอดเยี่ยมดังใจต้องการ

   โดยสรุปคือ อยากให้พิจารณาลำโพงที่คุณใช้อยู่ด้วย ว่า เหมาะกับแบบใด เพราะตัวแปร ไม่ได้ขึ้นกับเครื่องอย่างเดียว ความชอบแตกต่างกันไป แต่ ที่แน่ใจ คือ Octave V80SE นี่เป็นแอมป์หลอด เสียงละลายขั้วหัวใจเราให้อ่อนไหวตามไปอย่างง่ายดายเหลือเกิน     ถ้าเงินสี่แสนบาท มิใช่ปัญหา แล้วอยากได้เสียงที่ทรงคุณค่าแบบไฮเอ็นด์เนื้อแท้ เข้าถึงดนตรีแบบทุกอณูของความไพเราะ จัดไปเลยครับ เพราะถือว่า Octave V80SE ที่สุดของแอมป์หลอดในยุคนี้แล้วละครับ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here