Unison Uphono+ เสียงอนาล็อกร่วมสมัยที่น่าลิ้มลอง
ขอนำเสนอเรื่องราวแบบมุ่งเข้าสู่ประเด็นใจกลางของเนื้อหาไปเลยนะครับ เพราะว่า Phono Preamp เครื่องนี้ได้มีผู้ทำการทดสอบอย่างละเอียดละอออยู่พอสมควรแล้ว ซึ่งดูเหมือนจะเป็นผลงานของคุณหมอไกรฤกษ์ สินธวานุรักษ์ ซึ่งท่านจะหาอ่านได้จากนิตยสาร Audiophile เล่มที่ผ่านมาครับ
ถือว่าทุกอย่างมีรายละเอียดครบถ้วนกระบวนความ
แต่สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ จะเกี่ยวเนื่องจากการนำเอาปรีโฟโนเครื่องนี้มาใช้งานร่วมกับเครื่องเสียงวินเทจในระดับกลางๆ อันมี Marantz 7 และ Marantz 8 และอินทีเกรเต็ดแอมป์ Luxman 38fd ก็เพื่อที่จะเปรียบเทียบแนวเสียงของปรีโฟโนยุคใหม่อย่าง Unison Uphono+ กับปรีโฟโนซึ่งอยู่ในตัวของปรีแอมป์ และอินทิเกรเต็ดแอมป์ดังกล่าวในลีลาน้ำเสียง
ว่า แตกต่าง หรือ มีความคล้ายกันอย่างไร
ผมย่อมคุ้นเคยอยู่กับเสียงในปรีโฟโน ในเครื่องเสียงวินเทจทั้งสองชุดนี้เพราะมันมีข้อดีตรงที่เราฟังจากแผ่นเสียงรุ่นเก่า ด้วยยุคสมัยของเครื่องที่ผลิตมานานกว่า 40 ปี ย่อมทำให้คืนความ “ดั้งเดิม” ของเสียงในยุคนั้น ออกมาได้อย่างถูกต้องและให้อารมณ์ที่อิ่มเอมอย่างยิ่ง
แต่เมื่อฟังแผ่นไวนีลเพลงสมัยใหม่ ที่มีกระบวนการบันทึก และการทำมาสเตอริ่งจากดิจิตอล แล้วถ่ายทอดมาเป็นแผ่นเสียงลองเพลย์
ผลปรากฏก็คือสิ่งที่ได้มันยังดูลักลั่นกันในระหว่างความใหม่ และความเก่า ว่าจะลงตัวในระดับไหน อย่างไร บางครั้งการฟังแผ่นไวนีลยุคใหม่ ชุดเครื่องเสียงวินเทจจะออกอาการขัดแย้งอยู่ในระดับหนึ่ง
ถ้าจะให้พูดตรงๆ ก็คือเครื่องเสียงวินเทจ เมื่อนำมาฟังกับแผ่นเสียงในยุคใหม่จะรู้สึกไม่ค่อยลงตัวเท่าไหร่นัก อันเนื่องมาแต่อารมณ์เก่าบุคลิกเก่าของวินเทจเป็นเหตุนั่นเอง หากมีปรีโฟโนที่มีความสามารถในการสนองตอบเพลงทุกยุคสมัยก็จะดีมาก
ผมเคยนำเอาปรีโฟโนของ Moon 110 LP v2 ปรีโฟโนของ REGA Fono MM มาใช้งานร่วมกันกับเครื่องเสียงวินเทจทั้งสองชุดนี้ โดยเปรียบเทียบเข้ากับภาคปรีโฟโนในตัวของเครื่อง
ก็พบว่าการเล่นกับเพลงในยุคปัจจุบัน เครื่อง Phono Preamp ในยุคใหม่กลับให้ความสนุกสนาน และเพลิดเพลินได้มากกว่า ด้วยการที่มันไม่ติดยึดอยู่ในบุคลิกดังเดิมของเครื่องนั่นเอง
ดังนั้น จึงอยากนำเอา Unison Uphono+ มาทดลองดูบ้าง
จึงเป็นเหตุผลที่มีบทความสั้นๆ ชิ้นนี้ออกมาให้พิจารณากัน
ก่อนหน้านี้ ทาง Unison Research มีปรีโฟโนแบบหลอดออกมาสองรุ่น คือรุ่น Smart 845 ระดับไฮเอ็นด์ และ Phono One ระดับมิดเอ็นด์ มีตัวถังเป็นไม้ดูงดงามมีสง่ามากทีเดียว
ส่วนในรุ่นโซลิตสเตทล้วน รุ่นนี้ Uphono+ จะมีโวลุ่มเกนปรับความดังที่มีลายไม้เป็นวงแหวนรอบ ก็ดูสวยงามใช้ได้เลยทีเดียว ตัวถังเครื่องมีให้เลือกทั้ง สีดำ และสีเงิน
ช่องรับอินพุตจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง มีอยู่สองชุดด้วยกันนั่นก็คือ ช่อง Fixed และ Variable ที่ปรับเกนบวกลบได้ตามความต้องการ
มีวงจรภาคขยาย หัวเข็ม MM ที่เกน 38dB และขยายหัวเข็ม MC ที่สามารถปรับเกนได้สองค่าคือ 58 และ 69 dB เผื่อเอาไว้กรณีหัวเข็มแต่ละแบรนด์มีเกนต่างกัน
ถ้าเราพลิกด้านใต้เครื่องจะเห็นสวิตช์ปรับแบบ DIP เล็กๆ สำหรับปรับตามเกนของ impedance และค่า capacitance ที่เด็ดดวงไม่เหมือนใครคือมีภาคแปลง DAC ในตัว กรณีต้องการใช้งานเอาท์พุตแบบดิจิตอล แปลงเป็นอนาล็อกเพื่อทำการบันทึกเสียงได้ด้วย ทั้ง Coaxial Optical และ USB ภาคแปลงรหัส สูงสุดที่ 192/24KHz
โดยด้านใต้ของตัวเครื่องจะเห็น DIP Switch แยกออกเป็น MM Load, MC Load เลือกอินพุต ระหว่างหัวเข็ม MM และ MC มี IEC Filter และ MC Gain
ซึ่งเราสามารถเลือกปรับได้ตามค่าของหัวเข็มที่ใช้งานอยู่ หรือจะทดลองปรับโดยอาศัยคู่มือเป็นแนวทาง ไม่ได้ยากเย็นอะไรครับ ผมตั้งค่าของ MM Load ไว้ที่ 200pF มาตรฐาน สำหรับหัวเข็ม Linn Adikt เป็นหลัก
กรณีที่ท่านเล่นหัวเข็ม MC จะต้องปรับค่ามากกว่านี้ ทั้งโหลด เกน และ หรือ iec Filter
โอเคครับ เนื่องจากผมเน้นการทดสอบหัวเข็ม MM จึงใช้เทอร์นเทเบิล สองเครื่อง หนึ่งคือ Linn Sondek ที่ใช้อาร์ม AKITO และหัวเข็ม Adikt อีกเครื่องหนึ่งเป็น เทอร์นเทเบิล คลาสสิก Acoustic Research EB101 หัวเข็ม MM แบบโบราณดั้งเดิม คือ Shure V15 Type IV ที่เก็บออมถนอมไว้อย่างดี
งานตัวถังเครื่อง ประณีตเรียบร้อยตามสไตล์อิตาลี Hand Crafted in Italy ขั้วต่อต่างๆ เป็นแบบชุบทองโกลด์เพลทด้วยกันทั้งสิ้นครับ
มาลองดูกันว่า หลังจากต่อใช้งานกับแอมป์วินเทจ Marantz และ Luxman มันจะออกมาในรูปไหน โดยต่อ ปรีโฟโนเข้าทางภาคไลน์ AUX ของเครื่องปรีแอมป์ทั้งคู่
สลับการใช้งานเทอร์นเทเบิล Linn และ AR EB101
On Test
ผมคงต้องบอกก่อนว่าผมใช้แผ่นเสียงไวนิลหลายหลากพอสมควรนะครับ โดยเฉพาะแผ่นเสียงในยุคเก่าคือแผ่นเสียงตั้งแต่ช่วงที่ห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ตรามงกุฎยังส่งแผ่นไปทำในประเทศญี่ปุ่น
และอีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นแผ่นสากล คือเชฟฟิลด์แลบ LAB1 LAB2 LAB 5 LAB13 LAB15 LAB 29 และแผ่นเสียงค่าย TBM รวมถึง Mobile Fidelity แบบครึ่งสปีด หรือ half speed ที่ผมชื่นชม และชอบมานานแสนนานในแนวบุคลิกเสียง
การใช้งานระหว่างช่อง Variable ปรับเกนได้ กับช่อง Fixed สำหรับความเห็นส่วนตัวแล้วผมว่ามันก็น่าแปลกนะครับ
คือเมื่อเราใช้ช่องที่สามารถปรับระดับเกนโวลุ่มได้ ดูเหมือนมันจะเหมาะกับการใช้แผ่นเสียงรุ่นเก่าที่ยังทำมาสเตอร์ในรูปแบบของอนาล็อกมากทีเดียว
ส่วนแผ่นยุคใหม่ทั้งหลาย ผมชอบฟังจากช่องต่อแบบ Fixed ซึ่งฟังออกได้ว่ามีความเปิดกว้างมากกว่าเล็กน้อยในเรื่องของน้ำเสียง บุคลิกเสียง และความแม่นยำของเสียงต่ำช่วงเบสล่างสุด
ทั้งนี้คงมีความเป็นไปได้ที่ว่าช่อง Variable ต้องผ่านวงจร และการปรับเกนวงจรส่วนนี้จึงมีอิทธิพลในด้านคุณภาพเสียงในระดับหนึ่ง
อีกทั้งมันดีมากทีเดียว ตรงเมื่อเริ่มเล่นแผ่นที่ช่วงต้นที่มักมีเสียงสแครช เราสามารถลดโวลุ่ม แล้วเร่งขึ้นเมื่อถึงช่วงเพลงจริงๆ ได้ อันนี้ถือว่าออกแบบมาได้ถูกใจมากครับ
ถ้าจะพูดถึงน้ำเสียงโดยรวมของปรีโฟโนเครื่องนี้ ผมต้องบอกว่าคือบุคลิกเหมือนสาวอิตาเลียน ผู้มีความละเมียดละมัย ให้ความนุ่มนวล เสียงร้องกลมเกลี้ยงชัดเจน และให้ความไพเราะขับขานที่เราได้เคลิ้มฝันได้มิใช่น้อยเลยทีเดียว
ความสะอาดเสียงนี่ ถือว่า โดดเด่นครับ
ผมชอบรายละเอียดที่ดูจะเรียบร้อยของช่วงเสียงกลางสะอาดแจ่มใส ดูมีชีวิตชีวากับแผ่นไวนีลเพลงยุคใหม่ และ ความอบอวลนิ่มนวลของแผ่นยุคเก่าดูดีเยี่ยมทั้งสองอารมณ์
ถูกใจมากครับ ที่มีความเป็นกลางดีจริงๆ สไตล์เสียงแม้หัวเข็มจะเป็นหลักในการบ่งชี้บุคลิก แต่ความสะอาดภาคปรีโฟโนของ Unison Uphono+ ทำให้ผมได้ฟังเพลงสไตล์การบันทึกยุคดิจิตอลได้ลงตัวมาก แสดงความชัดเจนของเพลงสองยุคได้อย่างเป็นตัวเองของแผ่นแต่ละแบบอย่างแท้จริงครับ
เมื่อเปรียบเทียบกับภาคปรีหลอด Marantz model 7 ที่มีหลอด 12AX7 telefunken ต้องยอมรับว่า จะหาภาคปรีโฟโนแนวเสียงยุคเก่าเสียงดีเยี่ยมขนาดนี้ได้ยากมากครับ อ่อนหวานและปลายเสียงพลิ้วมาก
แต่กระนั้น Unison Uphono+ ก็จะมีดีตรงความแม่นยำที่แจ่มจรัสมากๆ ครับ
บุคลิกต่างออกไป แต่สวยสดงดงาม แม้จะไม่พลิ้วไหวเท่าลีลาเสียง Unison Uphono+ เมื่อฟังกับแผ่นรุ่นเก่าๆ นับว่า รังสรรค์ออกมาได้คู่คี่ กับภาคปรี Model 7 เลยครับ ในเรื่องความกระจ่างของเสียง แม้ช่วงปลายสุดของย่านความถี่เสียงแหลมนั้น ละเอียดน้อยกว่า Marantz Model 7 อยู่เล็กน้อย
แต่จุดเด่นของ Unison Uphono+ คือความสะอาดเสียงที่ดี มีไดนามิคเสียงที่ดีกว่า ภาคปรีโฟโนยุคเก่า มีพื้นเสียงสะอาดน่าทึ่ง อัตรา Noise ต่ำกว่า ยิ่งได้ฟังแผ่นระดับ Sheffield Lab ก็จะเห็นผลตรงนี้ชัดเจนครับ
ว่าอัตราการสะวิง ไดนามิคของความดัง และเบานั้น เข้าขั้นยอดเยี่ยมอย่างไม่ต้องสงสัย
ดังนั้น อยากแนะนำเลยว่า นี่คือปรีโฟโน ที่ยืนอยู่ระหว่างกลาง ของความเป็น อนาล็อกยุคเก่า และยุคใหม่ที่ลงตัวมากๆ อย่างที่หาตัวเปรียบเทียบได้ยาก มีความอ่อนหวานที่ลงตัวพอดีๆ
ช่อง Variable เหมาะกับ ฟังแผ่นยุคอนาล็อกเก่าๆ และช่อง Fix เหมาะกับแผ่นที่ทำมาสเตอริ่งยุคใหม่ ที่ลงตัวพอดิบพอดี ไม่มีช่องว่างใดๆ
เมื่อเปรียบเทียบกับภาคปรีโฟโน ในเครื่อง Luxman 38fD กับ Marantz 7 ที่ผมชื่นชอบ และฟังมาตลอด ผมว่า
Uphono+ เอาชนะเรื่องรายละเอียดเสียง ดีทั้งการรับฟังแผ่นรุ่นเก่า และรุ่นใหม่ครับ
เพราะเสียงของภาคปรีโฟโน Luxman 38fD นั้น ช่วงเบสจะย้วยๆ ไปนิดนึงตามสไตล์
แม้แต่ Marantz Model 7 ก็ยังสะอาดไม่เท่าปรียุคใหม่นี้ โดยในตัว Uphono+ ถือว่า เสียงกลางชัดเจนแม่นยำกว่า ให้เบสได้อิ่มน่ารักเลยทีเดียว จะอ่อนด้อยกว่า Model 7 นิดเดียวคือปลายแหลมไม่ได้พลิ้วแบบหลอดสุญญากาศ เท่านั้นเอง แต่โดยรวมถือว่าอยู่ในขั้นที่ดีมาก
แต่เราต้องไม่ลืมว่า Marantz Model 7 มีราคาพื้นๆ ไม่ต่ำไปกว่า 250,000 บาท ส่วน Unison Uphono+ ราคาช่วงนี้ โปรโมชั่นเพียงแค่ 34,900 บาทเท่านั้น (จากราคา 50,000 บาท) ครับ
ดังนั้น เมื่อรวมคุณสมบัติภาค DAC และการเล่นหัวเข็มได้ทั้ง MM, MC คุ้มเกินจะคุ้มนะครับ สำหรับเสียงอนาล็อก ที่ลงตัวเช่นนี้
บทสรุปคือ ปรีโฟโน Uphono+ รุ่นนี้ มีสิ่งที่สุดยอด หรือจุดที่โดดเด่นเหนือใครในระดับนี้ตรงที่ว่า…
Uphono+ นำเสนอเสียงกลาง และเสียงร้องยอดเยี่ยมครับ ถือว่าใกล้เคียงกับภาคปรีแอมป์โฟโนไฮเอ็นด์ ทดสอบได้จากเสียงร้อง อมานด้า แม็คบรูม ฮอลลี่ โคล เจนนิเฟอร์ วอร์น แคลร์ มาโลว์ ให้ความสมจริง ลอยเด่นเป็นมิติมากๆ
แม้จะให้ปลายเสียงแหลมยังไม่ถึงกับละเอียดระยิบระยับอ่อนไหวเหมือนปรีหลอดก็ตามที แต่เสียงร้อง ต้องถือว่าสวยงามมากๆ ครับ หาตัวจับยาก!
นี่คือเครื่องปรีโฟโนที่มีความเป็นกลางสูงให้รายละเอียดเสียงที่ดีมากโดยเฉพาะเสียงร้องโดดเด่น ถือเป็นปรีโฟโนร่วมสมัยที่อยากจะแนะนำกับทุกท่านด้วยแนวเสียงที่ร่วมสมัยอย่างแท้จริง
Unison Uphono+ ราคา 50,000 บาท ช่วงนี้มีโปรโมชั่นเพียงแค่ 34,900 บาท
สนใจทดสอบ หรือขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท วันพัฒน์ (59) จำกัด
729/3 ถนนพระยาสุเรนทร์ แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กทม. 10510
โทรศัพท์ : 02-175-2933-4 โทรสาร : 02-175-2935
E-mail : wanpat_59@hotmail.com
www.wanpat59.com