Audio-GD R7 MK2 (R2R)

0
2045

Audio-GD R7 MK2 (R2R)

Truly balanced fully discrete r2r ladder DAC

สุดยอด DAC ที่เลือกได้หลายบุคลิกเสียง

        หากย้อนกลับไปเมื่อสมัยที่ Audio-GD ทำสินค้าใหม่ๆ ในตอนนั้น พวกเขาได้ประกาศว่าซื้อชิป DAC เชิงพาณิชย์ที่ดีที่สุดจาก Burr-Brown PCM1704 ในตำนานมาใช้ในเครื่อง DAC ของเขา ก็น่าตื่นเต้นดี แต่อีกไม่นานพวกเขากลับค้นพบว่า ไม่ใช่เส้นทางไปสู่ความสุดยอดหากยังใช้ชิปสำเร็จรูปอยู่ ในที่สุดทีมหัวก้าวหน้าก็ได้ละทิ้งชิปสำเร็จรูปยอดนิยม PCM1704 อย่างไม่ไยดี

           Audio-GD ประกาศว่า เขาจะต้องก้าวต่อไปและพัฒนาชิป R2R ของตัวเองเฉกเช่น Rockna Audio และ MSB Technologies ที่ทำมานานกว่าทศวรรษแล้ว แน่นอนราคาของ DAC เหล่านั้นระดับหลายแสน จนถึงระดับล้านบาทเลยทีเดียว เพราะงานคัดเกรดอุปกรณ์ที่จะนำมาพ่วงกันเป็นขั้นบันไดนั้นไม่ใช่เรื่องหมูๆ และจะต้องมีความรู้ทางด้านดิจิตอลออดิโอในระดับเซียน

            แน่นอนหลายท่านย่อมไม่ทราบว่า ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของ Audio-GD ได้รับการออกแบบและพัฒนาภายใต้การนำของ Mr. He Qinghua ซึ่งเป็นผู้ชนะเลิศรางวัลที่หนึ่ง จาก National Semiconductor (USA) Audio Design Contest เรียกว่าหมอนี่ หัวอัจฉริยะเลยทีเดียวละครับ ดังนั้นการพัฒนาของ Audio-GD จึงก้าวเร็วมาก ในการตัดสินใจของ Audio-GD ที่มาทำระบบ R2R ได้ก่อกำเนิดแบรนด์ของตนให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มของนักเล่นที่ต้องการ DAC ที่ดีที่สุด และราคาเป็นที่ยอมรับได้

           มันเป็นเรื่องยากยิ่งที่จะนำเทคนิคทางด้านดิจิตอลออดิโอ มาอธิบายด้วยภาษาง่ายๆ  โดยเฉพาะในแง่ของผู้บริโภคด้วยแล้ว จะมีความรู้สึกเหมือนหนึ่งว่าไม่ได้มาเข้าคลาสเรียนเรื่องดิจิตอล

           แต่ถ้าสรุปแบบเข้าใจง่าย สำหรับวิธีการถอดรหัสของดิจิตอลคอนเวอร์เตอร์ แบบ R2Rมันเป็นการออกแบบด้วยกระบวน นำรีซิสเตอร์ (อุปกรณ์ตัวต้านทาน) มาต่อพ่วงกันแบบขั้นบันได เพื่อแปลงค่าสัญญาณทางไฟฟ้าของระบบดิจิตอลให้เป็นค่าทางไฟฟ้าสัญญาณอนาล็อก นั่นเอง รายละเอียดเรื่องนี้ อ่านบททดสอบ Audio-GD R8 MK2 ประกอบไปด้วย จะเข้าใจ R7 MK2 ได้ง่ายขึ้น https://www.thewave-online.com/test-report/audio-gd-r-8-mk2-r2r-dac/

           การออกแบบต่อรีซิสเตอร์แบบขั้นบันใดนี้ มีข้อดีตรงสามารถออกแบบให้มีคุณภาพเสียงในแบบที่ต้องการได้ดังใจต้องการ (ไม่ใช่เสียงสำเร็จรูป) แต่ก็ต้องเสี่ยงกับการคัดเกรด และแมตช์ตัวต้านทาน ว่าจะต้องมีค่าผิดพลาดได้น้อยที่สุด ยิ่งแมตช์อุปกรณ์คัดเกรดใระดับไฮเอ็นด์แบบนี้ ต้องแทบไม่มีค่าผิดพลาดใดๆ เลย

           โดยใน Audio-GD R7 MK2 (R2R) นั้น จะให้ผลของเสียงออกมาในการถอดรหัสภาค DAC ในแบบที่คุณเลือกฟังคาแรคเตอร์หรือรสชาติ จากปุ่มเลือกหน้าเครื่อง รวมถึงบุคลิกเสียงของแผ่นเสียงไวนิลที่ทีม Audio-GD ได้ศึกษามายาวนานนั้น ถือว่าเป็นความแปลกใหม่ ที่คุณจะต้องทึ่งว่า ดิจิตอลออดิโอสามารถทำมาได้ขนาดนี้เชียวหรือ แล้วระบบอนาล็อกหนีไปไหนพ้น

           ระบบวงจร Audio-GD R7 MK2 (R2R) จะใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์ทั้งหมดมาจัดกระบวนการส่งผ่านสัญญาณที่สมดุล หรือ Balanced ตลอดทั้งวงจร หรือเป็นภาคแปลงดิจิตอลทูอนาล็อกแบบ Truly balanced fully discrete r2r ladder DAC นั่นเอง

            มีตัวถอดรหัสฮาร์ดแวร์ DSD แบบแยกอิสระ 4 ชุด โมดูล R2R DA แบบแยกส่วนทั้งหมด 8 ชุด เพื่อสร้างตัวถอดรหัสแบบพุชพูล แบบสมดุลในสองช่องสัญญาณ

            ใช้ระบบนาฬิกา Digital Clock แบบ Accusilicon Femto ในระดับอ้างอิง 2 ชุด ที่ให้การซิงโครไนซ์สำหรับ DAC โดยใช้กับการเล่นอัตราข้อมูลทั้งหมดโดยไม่ต้องแปลง PLL (เฟสล็อค ลูพ)

            ภาคจ่ายไฟของวงจรนาฬิกา และวงจรอนาล็อกจะใช้พลังงานจากแหล่งจ่ายไฟที่มีการควบคุมชนิด เพียวคลาส A บริสุทธิ์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เสียงที่ดีที่สุดอีกด้วย

           R-7 MK2 คือเวอร์ชั่นการพัฒนาล่าสุด หลังจากเปิดตัว R-7 รุ่นเรือธง มาแล้ว 4 ปี ซึ่งทีมงานมีการอัพเดทอย่างต่อเนื่อง มีการคิดค้นทดลองซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์อย่างต่อเนื่องจนเป็นที่พอใจในความสมจริงของเสียง และเมื่อเปรียบเทียบแล้ว ต้องเป็นการปรับปรุงค่อนข้างชัดเจนเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า

           R-7 MK2 มีการใช้แหล่งจ่ายไฟเซอร์โวที่ได้รับการออกแบบใหม่ล่าสุดเพื่อป้อนวงจรดิจิตอลระดับเสียงนั้นเทียบเคียงได้กับการทำงานของแบตเตอรี่ (ทำให้ปลอดการรบกวนถึงขีดสุด) ทำให้เสียงอิ่มเอิบเป็นธรรมชาติ และจากการวิเคราะห์ บุคลิกของแผ่นเสียงเป็นเวลายาวนาน Audio-GD สามารถประมวลแนวเสียงอนาล็อกเข้าด้วยกันกับดิจิตอลออดิโอได้อย่างลงตัว ในเวอร์ชั่นใหม่นี้ คุณสามารถเลือกลักษณะเสียงแบบแผ่นเสียงไวนิลได้โดยผ่านแผงด้านหน้า!!!

           อินเทอร์เฟซ USB แบบ 32 บิต / 384K ซิงโครไนซ์กับ FPGA ระหว่างโมดูลของ USB และ HDMI ได้มีการแยกแหล่งจ่ายไฟให้เป็นอิสระสองกลุ่ม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการปนเปื้อนทางไฟฟ้าระหว่าง USB และ HDMI

            การพัฒนาทางด้านเทคนิคค่อนข้างจะก้าวหน้ามาก และมีรายละเอียดมากมายที่ไม่อาจกล่าวถึงในที่นี่ได้ทั้งหมด

            แต่จุดสำคัญที่สุดของภาค DAC ก็เป็นที่ยอมรับกันว่าการถ่ายทอดข้อมูลที่เที่ยงตรงโดยใช้ Clock หรือนาฬิกาดิจิตอลนั้นสำคัญสูงสุด

            เพราะรหัสสัญญาณเลขฐาน 2 อัน มี 0 กับ 1 จะต้องปราศจากการเหลื่อมกันของค่าเวลา ดังนั้นระบบ Clock ที่มีการพัฒนาออกแบบโครงสร้างใหม่ ย่อมทำให้การทำงานของ Clock มีความเสถียร เที่ยงตรงแม่นยำมากขึ้น ส่งผลให้เสียงมีความโปร่งใสสะอาด รายละเอียดถูกเปิดเผยมากขึ้น และแสดงรายละเอียดเล็กๆ ในเพลงได้มากขึ้นด้วย เทคนิคของภาคจ่ายไฟแยกอิสระในทุกวงจร ได้มีการอัพเกรดทุกๆ ส่วน ในการวัด THD ดีขึ้นกว่าเวอร์ชั่นเดิมถึง 10 dB ในทางเทคนิคแล้วถือว่าไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลยทีเดียว

            คุณสมบัติในเชิงเทคนิค ยังมีรายละเอียดอีกมากมายแต่เนื่องจากพื้นที่ทาง Facebook ดูจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่าน่าจะเอาเทคนิคเรื่องนี้แยกออกไปพูดในเรื่องของดิจิตอลออดิโออีกต่างหากเมื่อมีเวลาพร้อม มิฉะนั้นทุกเรื่องราวจะยาวเกินเหตุครับ

Test Report

            ผลิตภัณฑ์ Audio-GD R7 MK2 ทุกเครื่องจะถูกเบิร์นมาจากโรงงานอย่างน้อย 300 ชั่วโมงก่อนจัดส่งออกสู่ตลาด

            ผู้ผลิตแนะนำให้เบิร์นเพิ่มอีก 300 ชั่วโมงเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

            สำหรับวิธีที่เร็วที่สุดในการเบิร์นอินผลิตภัณฑ์นี้ให้สมบูรณ์คือ การเล่นเพลงอย่างต่อเนื่อง สามารถปิดแอมปลิไฟร์เออร์ได้ในขณะเดียวกัน มันจะไม่ส่งผลต่อกระบวนการเบิร์นอิน

            แต่ต้องปิดเครื่องก่อนเชื่อมต่อหรือถอดอินพุตหรือเอาต์พุต เพื่อป้องกันการมีเอฟเฟกต์ของวงจร DAC และห้ามเปิดเครื่องทันทีหลังจากปิดเครื่อง ต้องรออย่างน้อย 30 วินาทีก่อนเปิดอีกครั้ง

            สำหรับดิสเพลย์ของเครื่องรุ่นนี้ การเซ็ตอัพ ดูได้ไม่ง่ายนัก เพราะหน้าปัดแสดงดิสเพลย์จะซ้ำซ้อนกัน ในสามปุ่มหลัก คือ Setting , <Select , Select > 

            ถ้าซื้อเครื่องแล้ว อาจจะให้ผู้จัดจำหน่ายเขาแนะนำ จะเข้าใจง่ายกว่า และเมื่อใช้งานไปสักระยะ คุณจะคล่องมือเองครับ อีกทั้งผู้ผลิตจะมี ALTERAIC USB BLASTER มาด้วย กรณี การอัพเกรดทางช่องบริการด้านหลังเครื่อง

           ในการแสดงสถานะการทำงานปกติ อินดิเคเตอร์ช่องสัญญาณอินพุต จะเลือกช่อง 1,2,3,4,5 หรือ 6 ได้ตามแต่อินพุตที่ต่อไว้ ส่วนการเลือกนาฬิกาดิจิตอลคล็อก ภายในหรือภายนอก สังเกตได้ว่า เมื่อคุณเชื่อมต่อ Clock ภายนอก จุดที่มุมขวาล่างจะสว่างขึ้นเพื่อระบุว่าตรวจพบสัญญาณนาฬิกาใหม่แล้ว

           ตัวบ่งชี้อัตราการสุ่มตัวอย่างจะแสดงขึ้น เมื่อคุณเลือกสัญญาณอินพุต แบบพีซีเอ็ม 44.1, 48.0, 88.2, 96.0, 176, 192, 352 และ 384 ในขณะที่ตัวเลขดิจิตอลบนหน้าปัดแสดง ที่ 064, 128, 256 และ 512 นั้น ใช้สำหรับรูปแบบ DSD ที่คุณนำมาเพลย์แบ็ค

            ผมคงอธิบายทั้งหมดไม่ไหว เดี๋ยวบททดสอบเสียง อาจจะกลายเป็นคู่มือการใช้งานเครื่องไปนะครับ แต่จะแนะนำว่าพื้นฐานจะเป็นแบบนี้คือ

            ปุ่มตั้งค่า เมื่อเรากดปุ่ม “Setting” หนึ่งครั้ง ตัวเลขหลักซ้ายสุดจะกะพริบ แสดงว่าเราเลือกแล้ว เมื่อต้องการปรับในตัวเลขดิจิตหลักที่กระพริบอยู่ ให้ไปกดเปลี่ยนการตั้งค่าที่เกี่ยวข้องได้ โดยกดปุ่ม “ตัวเลือก”  <Select ทางซ้ายเพื่อเลือกค่าที่ต้องการ ในขณะที่จอแสดงผลยังคงกะพริบอยู่ ให้กด “Setting” อีกครั้ง ตัวเลขถัดไปทางขวาจะถูกเลือก และกะพริบ กดปุ่ม “Selector” ทางขวาเพื่อเลือกตัวเลขทางด้านซ้ายของตัวเลขที่เลือกอยู่ในขณะนั้น

            ในขณะที่ตัวเลขขวาสุดกะพริบ ก็ให้กดปุ่ม “Setting” หนึ่งครั้ง เมนูจะเปลี่ยนไปเป็นหน้า หรือเพจของการปรับ Setting หน้าที่สองต่อไป

            สำหรับการเลือกอินพุตหลักๆ จะใช้ปุ่มด้านซ้าย โดยที่ปุ่ม “ตัวเลือก” ด้านซ้าย < Select ในขณะที่จอแสดงผลอยู่ในสถานะปกติ (คือตัวอักษรดิจิตไม่กะพริบ) จะช่วยให้สามารถเลือกแหล่งสัญญาณขาเข้าในลำดับที่ที่ต้องการได้ สิ่งใดสิ่งหนึ่งต่อไปนี้จะปรากฏขึ้นให้คุณได้เลือก

1 – AES สำหรับอินพุตดิจิตอล AES/EBU

2 – RCA สำหรับอินพุตดิจิตอลโคแอกเซียล RCA

3 – BNC สำหรับอินพุตดิจิตอลโคแอกเซียล BNC

4 – OPT สำหรับอินพุตดิจิตอลออพติคัล

5 – IIS สำหรับอินพุตดิจิตอล HDMI-IIS

6 – USB สำหรับอินพุตดิจิตอล USB

           ส่วนหลักๆ ของปุ่มตัวเลือกด้านขวา Select >ในขณะที่จอแสดงผลไม่กะพริบ จะช่วยให้คุณสามารถเลือกแหล่งสัญญาณขาเข้าในลำดับที่เพิ่มขึ้นได้ ส่วนในขณะที่จอแสดงผลกะพริบ จะช่วยให้เปลี่ยนค่าของการตั้งค่าที่เลือกนั้นได้

            การปรับตั้งค่าในโหมด Oversampling (OS) มีหลักควรสังเกตว่า ยิ่งระดับ Oversampling ยิ่งต่ำ เสียงก็จะยิ่งอุ่นขึ้น ค่าที่นำเสนอคือ

            0 : โหมด NOS พื้นฐาน

           2 : 2X โอเวอร์แซมปลิ้งหรือสุ่มตัวอย่างมากขึ้นเป็น 2 เท่า

           4 : คือการสุ่มตัวอย่าง 4 เท่า

           8 : การสุ่มตัวอย่าง 8 เท่า

            ดังที่ทราบว่า เครื่องรุ่นนี้มีให้เลือกปรับค่า DAC ให้ทำการจำลองเสียงของเครื่องเล่นแผ่นเสียงด้วยการเปิดค่า S (จำลอง) : เป็นการเปิดใช้งานคุณสมบัติของการจำลองท่วงทำนองบุคลิกของแผ่นเสียงไวนีล เพื่อพิสูจน์ว่าอันที่จริงแล้วดิจิตอลออดิโอสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด

            จากหน้าปัดดิสเพลย์ ผู้ออกแบบวงจร แนะนำให้ตั้งค่า DAC บนโหมด OS2, OS0 หรือ NOS เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และสามารถปิดใช้ค่าเสียงแบบแผ่นเสียงได้ ที่ N หรือ Non-Simulate

            โหมดปรับตั้ง อาจจะทำให้คุณสนุก หมกมุ่น หมดเวลาไปเป็นวันๆ ในการเลือกค่าปรับตั้งต่างๆ นั่นคือความสนุกของการเล่นดิจิตอลออดิโอครับ

            ยอมรับครับว่า ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญดิจิตอลออดิโอก็จริงอยู่ แต่ก็ได้เล่นเพลงสตรีมมิ่ง สนุกกับไฟล์เพลงมานานพอดู รวมถึงได้ใช้ไฟล์เพลงในสตอเรจ ของ NAS แบบไฟล์ CD และ Hi-res ที่ซื้อมาจากผู้จำหน่ายออนไลน์มาสะสม รวมไปถึง ไฟล์เพลง Hi-Res ที่บันทึกไว้จากMaster อัลบั้มเพลง ลาแล้วกรุงเทพ ระดับ192/24 และ 96/24 (ก็บันทึกและทำมาสเตอริ่งด้วยมือของตัวเองเลยนี่ละครับ) เล่นผ่านทาง USB จากโปรแกรมใน Mc Book Pro มายัง DAC Audio-GD R7 MK2

            นอกจากนั้น การทดสอบของผม ไล่เรียงลำดับ เหมือนตอนทดสอบ Audio-GD R8 MK2 คือหลักๆ ยังใช้เป็นช่องอินพุต Coaxial จากเครื่องเล่นซีดี (ทำเป็นทรานสปอร์ต) มีเครื่องสตรีมเมอร์แบบ ออลอินวัน แต่ส่งข้อมูลจากสตรีมเมอร์นั้นมาแปลงรหัส ทาง Optical  ของ R7 MK2 ด้วย

            บทสรุปท้ายเรื่องคุณภาพเสียง ไม่กี่บรรทัดนี้แหละครับที่สำคัญยิ่ง บรรยายเทคนิคจากผู้ผลิตร้อยเล่มเกวียนไม่เท่าการฟังจริง โดยมี SUGDEN IA4 กับ Rogers LS 5/9 Classic เป็นReference System

            เสียเวลาเบิร์นทุกวันๆ ไปให้ครบ 300 ชั่วโมง เพราะไม่รู้ว่าเครื่องที่ Msound เขาส่งมานั้น เบิร์นมานานแค่ไหนแล้ว ไม่อยากคาดเดา ก็เริ่มต้นนับหนึ่งกันเลย

            Audio-GD R8 MK2 ระดับราคาหกหมื่นกว่า ที่ผมว่าดีมากแล้วนะครับ แต่มาเจอพี่ใหญ่อย่าง Audio-GD R7 MK2 คราวนี้ เกิดอาการสองอย่างในอารมณ์ขึ้นมาเลย

            หนึ่ง Audio-GD R7 MK2 คุณภาพเสียงดีกว่า R8 MK2 อย่างบรรยายแทบไม่ถูกเลยครับ

            และสอง ไม่อยากเชื่อว่ามันเป็น DAC ในราคาแสนหนึ่งหมื่นบาท หากว่าราคาไถลไปไกลถึง 2-3 แสน ผมยังเชื่อเลยครับ เสียงแบบนี้

            จุดที่เด่นมากๆ คือคุณภาพเสียงทั้งเปิดโปร่งระยิบระยับ และเสียงอิ่มราวกับเสียงไฮเอ็นด์อนาล็อก ที่ไร้มลภาวะรบกวน และค่าไดนามิคเร้นจ์สุดยอดมาก

            โหมดสังเคราะห์เสียงจากแผ่นเสียงนี้ เล่นเอามึนได้เลยครับ คือมันอนาล็อกมากๆ จนน่าเกรงขามว่า อีกสักหน่อยระบบดิจิตอลจะสร้างบุคลิกแบบใดให้เราฟังก็ได้ แม้จะไม่ทำให้เราเลิกเล่นแผ่น แต่ชักจะหวั่นใจเอาเลยทีเดียวครับ

            Audio-GD R7 MK2 เป็น DAC ที่น่าจะเป็น Best of The Year ในระดับราคาไม่เกิน 200,000.- บาทได้เลย (ค่าตัว Audio-GD R7 MK2 เพียง 110,000.- บาท เท่านั้น) ต้องเรียกว่า คู่แข่งในระดับนี้ ต้องเกิดอาการหนาวแล้วกัน!!!

            โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยฟังเสียงสะอาดอิ่มลึกซึ้งถึงก้นบึ้งอารมณ์ กับ DAC มาก่อน ระวัง! ว่าฟังแล้วจะถอนใจไม่ขึ้นเลยทีเดียวขอรับ

Audio-GD R7 MK2 (R-2R) ราคา 110,000.- บาท

สนใจทดลองฟัง หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

ร้าน  Msound   โทร. 096-978-7424 คุณเอ็ม

LINE : m_240956

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here