Audio Bastion รุ่น X-PAD PLUS ll
Audio Bastion รุ่น X-PAD REF
การจัดการไวเบรชั่นระดับสมดุล
เรื่องการสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นกับระบบเสียงนั้น เรารับรู้กันมานาน และมีความพยายามพัฒนาอุปกรณ์สลายการสั่นสะเทือนออกมาโดยเฉพาะ ในช่วงปี 2000 เป็นต้นมาจะเห็นตัวลด Vibration ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากออดิโอไฟล์ เห็นผลลัพธ์ในการใช้สลายแรงสั่นส่วนเกินดังกล่าว
แต่ละแบรนด์ต่างเลือกใช้เทคนิคสลายแรงสั่นด้วยเทคนิคเฉพาะตัว ทั้งคล้ายคลึงและผิดแผกแตกต่างกัน
อันที่จริงระบบเครื่องเสียง เริ่มมีการสั่นสะเทือนไม่พึงประสงค์
• เริ่มตั้งแต่ในวงจรเครื่องเสียงเลยทีเดียว เมื่ออุปกรณ์ตัวเก็บประจุไฟฟ้าทำงานมันจะมีอาการไมโครไวเบรชั่น สั่นสะเทือนทางกลน้อยๆ เกิดขึ้น รวมถึงผลกระทบจากภายนอกเครื่องก็จะมีผลการสั่นตรงนี้เพิ่มขึ้นด้วย
• หม้อแปลงไฟฟ้าทุกรูปแบบในเครื่องเสียง มอเตอร์ กลไกการหมุนของเครื่องเล่นซีดี เครื่องเล่นแผ่นเสียงรวมถึงลำโพง ย่อมสั่นสะเทือนอย่างเห็นได้ชัด สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการบิดเบือนของคุณภาพเสียงตั้งแต่แรก ดังนั้นอุปกรณ์รองใต้ฐานเครื่อง ลำโพง จึงมีผลลัพธ์ในการช่วยสลายการสั่น ตามแต่เทคนิคและความสามารถอุปกรณ์นั้นๆ
• อุปกรณ์ที่คิดค้นขึ้นมาสลายคลื่นจากแรงสั่นในทางกลเหล่านี้ มีรูปแบบที่เราคุ้นเคยคือขายางรอง ทิปโท สไปก์ ที่ต้องใช้การออกแบบที่ละเอียดอ่อน ตั้งแต่ขนาด วัสดุที่ใช้ การเสริมสปริง ยาง ลูกปืนเซรามิกและโลหะ
ซึ่งพูดจากประสบการณ์ สิ่งเหล่านี้ช่วยลดการสั่นสะเทือนไม่ได้ทั้งหมด แต่จะลดได้ในย่านความถี่วิกฤติที่มีผลต่อการรับฟัง ซึ่งผู้ผลิตเองก็ต้องทราบว่า ความถี่ใดที่ระคายโสต มีผลต่อการทำงานที่เบี่ยงเบนของระบบ ที่สมควรต่อการหักล้าง ถือว่าเป็นศิลปะเฉพาะตัวของแต่ละรายไปครับ
การลดไวเบรชั่นที่มากเกินไป ต้องระวังว่าจะมีผลต่อการลดความถี่ย่าน Audio Frequency ให้ลดลงไปด้วย เรื่องนี้ท่านจะประสบได้ด้วยตนเองว่า อุปกรณ์ที่ดีจะทำให้เสียงสงัดขึ้น อิ่มฉ่ำในปลายเสียงและการทอดยาวของเสียง
แต่อุปกรณ์ที่มาช่วยลดการสั่นสะเทือนที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือใช้ผิดวัตถุประสงค์ จะดูดเอาความถี่สำคัญบางย่านหายไป กลายเป็นเสียงที่สงัด แต่ห้วนกระด้างก็มี และอุปกรณ์ลดการสั่นสะเทือน ที่ไม่เข้ามาตรฐานบางตัว ก็ไปเสริมความถี่หรือเปลี่ยนแปลงบุคลิกเสียงซิสเต็มให้เปลี่ยนไปก็มีเช่นกัน
ดังนั้นอุปกรณ์ลดไวเบรชั่นที่ดี จึงต้องลดส่วนเกิน และช่วยให้ย่านความถี่ออดิโอเกิดความสมดุลครับ อีกทั้งเรื่องที่พึงระมัดระวังคือ อย่าใช้กับการลดการสั่นที่ไม่ตรงข้อกำหนด เช่นกำหนดค่ารับน้ำหนักไว้ 10 กิโลกรัม เรานำไปรองใต้ฐานเครื่องหนัก 20 กิโลกรัมเป็นต้น นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว สิ่งที่ตามมากลายเป็นการทำงานแบบไม่เสถียร กลับเสียงแย่ลงกว่าเดิมอีกด้วยซ้ำ
การเลือกอุปกรณ์โดยเฉพาะจำพวกตัวรองลดไวเบรชั่นนี้ จึงต้องพิเคราะห์กันหลายแง่มุม บางครั้งก็มีโอกาส ลองผิดลองถูกได้บ้าง แต่ดีที่สุดคือการทดสอบฟังและใช้งานด้วยตนเอง และการเริ่มจากผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงในราคาสมเหตุผล หรือราคาไม่โอเวอร์จนเกินเหตุ เป็นทางออกที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
ดังนั้นในท่ามกลางอุปกรณ์เสริมฐานเครื่องเสียงและลำโพง ผมขอแนะนำ แบรนด์ Audio Bastion เป็นพิเศษเลยครับ
เริ่มต้นด้วยแบรนด์ Audio Bastion ซึ่งมีสำนักงานออกแบบในเมืองฮูสตัน รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา มีฐานการผลิตในโรงงานประเทศจีน
ทีมงานของเขา ออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อซัพพอร์ตออดิโอไฟล์ ที่ต้องการอุปกรณ์เสริม High end audio ที่มีราคา “สะดวกซื้อ”
Audio Bastion มีสินค้าที่ออกแบบและจดสิทธิบัตรในด้านโครงสร้างการซับแรงสั่นสะเทือนของชั้นวาง เครื่องเสียงคุณภาพสูง รวมถึงอุปกรณ์เสริมที่ใช้งานที่มีประสิทธิภาพจริง หลายรายการ
ทุกอุปกรณ์เสริม Audio Bastion ให้การทำงานที่สามารถดูดซับ และกำจัดแรงสั่นสะเทือนไปยังอุปกรณ์ต่างๆ ได้ดี ใช้งานได้กับกับชุดเครื่องเสียงที่โปรดปรานของคุณ ทุกรุ่น ทุกแบรนด์มาตรฐาน
ผมจะขอนำเอา Audio Bastion รุ่น X-PAD PLUS ll และ X-PAD REF เป็นการเริ่มต้นครับ
ติดตามอ่านรายละเอียดการรีวิว ในภาคที่ 2 ต่อไปครับ