The Art of Speaker Design Chapter 18 🔅

Test Report B&W Nautilus ✅

ดนตรีที่ป้อนให้กับ B&W Nautilus นั้น ผมเริ่มด้วยเพลงแบบ Classical เพื่อจะค้นหาว่าการเซ็ตอัพนั้น ถึงพร้อมหรือยัง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าขนาดของห้องฟังอาจจะไม่ใช่ขนาดที่ดีที่สุด สำหรับ Nautilus แต่ก็ส่งพลังออกมาได้อย่างเต็มที่เท่าที่เราต้องการ เพียงแค่เพลงแรกคือ On the Beautiful Blue Danube โดย Johann Strauss นั้น ก็สามารถค้นพบว่า นอกจากเสียงจะสะอาดสุดๆ แสดงถึงพลังของเครื่องดนตรีอย่างพร้อมเพรียงแล้ว

ไม่ว่าจะเปิดด้วยระดับความดังสูงเต็มอิ่มทั้งห้อง หรือลดระดับความดังลงมาทันทีถึงหนึ่งเท่าตัว สองเท่าตัว สามเท่าตัว มันช่างน่าพิศวงมาก ที่เวทีเสียงยังคงให้ความรู้สึกที่กว้างใกล้เคียงกัน ไม่มีในลำโพงอื่นใด

เพราะลำโพงส่วนใหญ่จะมีเวทีหดย่อตัวลงมาตามระดับความดังที่ลดลงทันที แต่ Nautilus กลับไม่เป็นเช่นนั้น
ความกว้างของเวทีเสียง หรือ Sound Stage น่าทึ่ง ในขณะที่ความลึกลงเป็นเป็นลำดับชั้น เหมือนเรามองเห็นตำแหน่งชิ้นดนตรีลดหลั่นกันลงไปทำได้ดีเยี่ยมมากๆ

ข้อสังเกตถัดมาคือ จากประสบการณ์ในการฟังเพลงในคอนเสิรต์ฮอลล์ เราจะพบว่า เมื่อนั่งชมการแสดงดนตรีสดๆ แล้วหลับตาลง เสียงจะไม่มีเปลี่ยนแปลง ผมหมายรวมถึงตำแหน่ง ระดับความดัง น้ำเสียง บุคลิกดนตรี ความก้องกังวาน ฮาร์โมนิกต่างๆ คุณจะนั่งมองหรือหลับตาก็ตาม เสียงทุกเสียงจะคงเดิมไม่หดขนาดลง ไม่ผิดทิศผิดทางใดๆ ไม่รู้สึกว่าสูญเสียงความถี่

ซึ่งอาจจะเป็นครั้งแรกที่เราได้ฟัง B&W Nautilus แล้วให้ความรู้สึกแบบเดียวกัน นั่งฟัง หลับตา ลืมตา สลับกันไปเรื่อยๆ ความรู้สึกถึงอรรถรสของดนตรีก็มิได้แปรเปลี่ยนแต่อย่างใดทั้งสิ้น

แต่ในลำโพงแทบทุกคู่ เมื่อฟังในบรรยากาศมืดมิดกับสว่าง เสียงที่ได้จะสร้างความรู้สึกแตกต่างกัน หรือเมื่อเราหลับตา ลืมตาฟัง สลับกัน เสียงมักมีคุณภาพแตกต่างจากกันเล็กๆ น้อยๆ เสมอ โดยเฉพาะความรู้สึกนิ่งต่อการแสดงตำแหน่งดนตรี

การไม่แปรเปลี่ยนไดนามิกเรนจ์และรายละเอียดใน Nautilus ให้ความนิ่ง แนบเนียนทุกเสียง ย่อมเป็นลักษณะพิเศษของลำโพงที่ดีไซน์ได้อย่างเป็นเลิศเท่านั้น

ความถูกต้องเที่ยงตรงของ Nautilus ทำให้ผมได้สัมผัสเสียงดนตรีบางชิ้นที่การทอดยาวของปลายเสียงมากยิ่งขึ้น เสียงร้องเฉพาะตัวของ Grace Griffith ใน Every Hue and Shade ความโปร่งกังวาน การสะท้อนอย่างจงใจเพื่อแสดงถึงขนาดของห้องบันทึกเสียง

สร้างความไพเราะจับใจอย่างที่ผมเองก็ไม่เคยได้รับมาก่อน เสียงการถอนลมหายใจเข้าออก อย่างช่ำชองของศิลปินที่ Nautilusให้คุณสัมผัสได้เต็มที่ แม้ว่าจะค่อยๆ จางลงเรื่อยๆ ในบางช่วง ก็ยังคงชัดเจนในความรู้สึก เป็นสัดส่วนที่สมจริงมากๆ

สรรพสำเนียงต่างๆ ของเพลงที่บันทึกมาอย่างรอบคอบและให้ความเอาใจใส่ จะถูกนำมาเปิดเผยได้อย่างครบถ้วนที่สุดเท่าที่เราเคยได้ฟัง

สิ่งที่แตกต่างจากลำโพงอื่นนั้นคือ ความรู้สึกอิสระของเสียงทุกเสียงที่ B&W Nautilus นำเสนอ ถ่ายทอดจากเสียงที่แผ่วเบาจนถึงพลังที่กระหึ่ม เป็นความต่อเนื่องลื่นไหลราวกับสายน้ำ

ผมชื่นใจมากที่ได้ฟังเสียงฮาร์พที่บรรเลงได้อย่างดึงดูดใจจากศิลปิน Dee Carstensen ในอัลบั้ม Regarding and Soul ผสมผสานการขับร้องเสียงสูงลากยาวอย่างเหลือเชื่อ ฮาร์พเป็นเครื่องดนตรีกลุ่มเครื่องสาย ซึ่งจะมีความแตกต่างจากเครื่องสายประเภทอื่นๆ

นอกจากการใช้โครงขึงสายที่มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมโค้งงอเล็กน้อยที่แล้ว การขึงของสายนี้ จะไม่ผ่านกล่องเสียงเหมือนเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกีตาร์ ไวโอลิน หรือเปียโน เสียงของมันจึงโดดลอย อิสระมากกว่า ให้ความรู้สึกสดชื่นและเสียงที่สั่นของสายจะจับจิตใจได้มาก ยิ่งได้การถ่ายทอดผ่าน Nautilus ออกมา คลื่นเสียงที่สั่นเป็นความไพเราะเสนาะโสตที่จับผิวหนังเลยด้วยซ้ำไป

เพลงในท่วงทำนอง Polka–Waltz ที่สรรค์สร้างโดย Johann Strauss โดดเด่นที่สุดคือ On The Beautiful Blue Danube เมื่อผมได้ฟังกับ Nautilus แล้ว ก็ต้องบอกว่าเป็นความโรแมนติกอย่างเหลือเชื่อ คำว่า “นอติลุส” ได้ถูกบันทึกไว้ในความรู้สึกส่วนลึกในใจคนฟังตลอดไป

ความอ่อนช้อยของลีลาดนตรี การแสดงความห้าวหาญเมื่อสายน้ำกระทบกับโขดหิน พลังของดนตรีเอิบอิ่มหนักแน่นโหมกระหน่ำได้อย่างสุดยอด ประดุจนั่งฟังการบรรเลงจริงๆ ในคอนเสิร์ตฮอลล์ ไม่ใช่ว่าลำโพงทุกคู่ที่ถือตัวว่าเป็นไฮเอนด์จะพึงทำได้หมดจดขนาดนี้ เป็นเพลงเดียวที่สามารถตัดสินได้ว่า B&W Nautilus รังสรรค์ขึ้นมาเพื่อความยิ่งใหญ่ของดนตรีโดยแท้

ผมได้กลิ่นอายของเพลงระบำชาวนาที่ถูกพัฒนาขึ้นเป็นเพลงของชนชั้นสูงโดย โยฮันน์ สเตราสส์ ในอัลบั้ม Ein Straussfest ปลุกเร้าความรู้สึกที่ดีงามของดนตรีออกมาได้หมดจดที่สุดเท่าที่เราจะพึงได้ฟังจาก Nautilus เจ้าลำโพงท่อมหัศจรรย์รูปทรงหอยวงเปลือกมุกคู่นี้

คือช่วงเวลาที่เป็นความสุขเกินพรรณนาเมื่อได้ฟังเพลงโปรดทุกสไตล์กับ Nautilus เป็นการรับฟังที่จิตใจสามารถล่องลอยไปไกล เหมือนได้ใกล้ชิดกับดนตรียิ่งกว่าทุกครั้ง จากเพลงร้องคันทรีง่ายๆ ของ Rebecca Pidgeon : Four Marys จนถึงเพลงคลาสสิกหลากหลายค่าย

แล้วก็มาทวนความหลังกับเพลงไทยที่บันทึกมาค่อนข้างดีบางแผ่น เช่น Coco Jazz เสียงสวยวัยใสๆ ในอดีตของคุณนรีกระจ่าง คันธมาส เราได้เรียนรู้ความจริง ความสะอาดและบริสุทธิ์ของย่านความถี่อันแสนไพเราะ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน สิ่งที่ซ่อนในรูปทรงคลาสสิกของมัน สามารถถ่ายทอดเสียงดนตรีแท้ๆ ออกมาเต็มไปด้วยอารมณ์อันลึกล้ำ ยากจะพรรณนาได้

Nautilus เป็นลำโพงในความหมายของคนเล่นเครื่องเสียงไฮเอนด์ เป็นศิลปะทางด้านประติมากรรมในแง่ของศิลปิน เป็นนวัตกรรมทางด้านการออกแบบทางฟิสิกส์ที่น่าทึ่งของนักกลศาสตร์

แรกสุดที่ผมได้เห็น Nautilus ก็จินตนาการต่างๆ นานา ว่ามันจะเป็นเช่นไร เสียงแนวไหน ตัวจริงกลับดูเรียบสง่า ขนาดไม่ได้ใหญ่โต “ท่วมบ้าน” หรือต้องแหงนหน้าดู ขนาดสูงเพียงอกหรือไหล่ของเรา และพอได้ฟังแล้วก็กลับรู้สึกสงบเยือกเย็น อิ่มเอมกับอรรถรส จนลืมไปเลยว่ามันคือลำโพงคู่หนึ่ง เพราะเสียงที่แผ่ออกมาอย่างกว้างขวางแบบไร้ตู้เช่นนี้ ไม่ต่างกับการนั่งฟังดนตรีบรรเลงจริงๆ ต่อหน้า

ดังนั้น ผมจึงไม่อยากเรียกขานว่า B&W Nautilus เป็นลำโพง แต่ B&W Nautilus คือ B&W Nautilus นั่นละคือความหมายที่อยากจะบอกกับทุกท่าน เพราะมันเปรียบเสมือนประติมากรรมชิ้นเอกที่ให้เสียงดนตรีได้

ยิ่งได้นั่งวิเคราะห์รูปทรงไปพร้อมกับการฟังเสียง ช่างเป็นนวัตกรรมอันลึกซึ้ง ที่มีความงดงามเฉพาะตัว อยากพูดแบบซ่อนปริศนาว่า “สวยเพราะความจำเป็นต้องสวย” มิใช่สวยงามเพียงเพื่อจุดประสงค์แห่งดีไซน์ให้ดูหรูหราเท่านั้น แต่ความงดงามนี้ เกิดขึ้นจากความลงตัวของกลศาสตร์ชั้นสูง คือความเพียรพยายามนานกว่าสามปี จึงสำเร็จเป็น Nautilus

การได้ทดสอบฟังถึงสามรอบ สามวาระ อย่างตั้งอกตั้งใจ ผมก็มาถึงจุดที่เห็นซึ่งความงามล้ำของ Nautilus เป็นช่วงเวลาอันประทับใจครั้งหนึ่งในชีวิตครับกับ
ศิลปะศาสตร์ของ B&W Nautilus

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here