The Light of Audiophile ตอนที่ 3

การเล่นเครื่องเสียงโฮมยูสด์หลากหลายแนวทาง

           บทความแต่ละบท เริ่มต้นจากประสบการณ์ ความคิดของผมเอง ไม่ได้อ้างอิงตำราใดๆ เป็นหลัก แค่เหมือนคนที่ออกมาบอกเล่าประสบการณ์ในฐานะนักเล่นเครื่องเสียง ที่ไม่ใช่นักวิชาการ นะครับ

           ดังนั้นการอ่านจะพึงมีประโยชน์ ก็ต่อเมื่อท่านทราบว่า ท้ายที่สุดของการเล่นเครื่องเสียง คือปลายทางที่เราได้ยินเสียงและมีความสุขเท่านั้น

           ไม่ได้ชวนท่านท่องตำรา หาเหตุผลทางหลักฟิสิกส์ ถ้าแบบนั้น ท่านสามารถศึกษาได้จากตำราต่างๆ ได้อยู่แล้ว

           ดังนั้น จึงต้องขออภัย ที่ศัพท์บัญญัติ ของผมในฐานะคนเล่นเครื่องเสียง จึงเป็นศัพท์เฉพาะตัว ไม่สามารถยึดเป็นหลักการสากลใดๆ ได้เลย

           แต่เป็นแนวทางหนึ่ง ที่คนเล่น สื่อสารถึงคนเล่นในแบบเดียวกัน เพื่อความเข้าใจง่ายนะครับ

           การเล่นเครื่องเสียงมีพัฒนาการมาเป็นระยะเวลายาวนาน นับตั้งแต่เสียงระบบโมโน Monophonic ช่องเสียงเดียว มาถึงระบบสองช่องเสียง Stereophonic และบางช่วงเวลาก็แผลงออกไปถึง Quadraphonic หรือระบบสี่ช่องเสียง (ที่ได้สูญสลายแนวทางไปแล้ว)

           ถ้าจะกล่าวว่า ส่วนที่เหลือคือ ทั้งระบบเสียงช่องเสียงเดียว และระบบสองช่องเสียงนั้น ในปัจจุบันความนิยมที่ถูกยอมรับเป็นสากลคือ ระบบสองช่องเสียง (ระบบสเตอริโอ)

           ระบบ Stereophonic ที่นักบันทึกเสียง (Recording) และคนฟัง (Playback) เห็นพ้องกัน มานานแล้ว ว่าพอเหมาะ พอควร สำหรับการแสดงผล ทั้งรายละเอียด การแยกแยะ การประสาน เวทีเสียง ตำแหน่ง และอิมเมจของเสียง เป็นที่ยอมรับได้

           แม้สตูดิโอจะสามารถบันทึกเสียงดนตรี แยกแยะออกมาได้ ถึง 48 แชนแนล ในทางปฏิบัติ แต่ที่สุด Sound Engineer ก็จะต้องนำทั้งหมดมามิกซ์รวมกันให้เหลือเพียง 2 แชนแนล อยู่ดี

           ส่วนระบบโมโนนั้น จะอยู่ในกลุ่มนักเล่นวินเทจระดับไฮเอ็นด์ ที่ยังคงหลงใหลในเสน่ห์บางประการของช่องเสียงตรงๆ แบบแชนแนลเดียว

           เรามาทบทวน องค์ประกอบระบบเสียงมาตรฐาน Stereophonic ของโฮมออดิโอ นะครับ ที่ผมจะแยกออกเป็น สามส่วนหลัก และสองส่วนรอง คือ

           สามส่วนหลักได้แก่

           1. แหล่งโปรแกรม อันได้แก่ เครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องเล่นซีดี เครื่องรับวิทยุหรือจูนเนอร์ เทปรีล สตรีมเมอร์ ที่จะมีหน้าที่ในการป้อนสัญญาณอนาล็อก หรือดิจิตอล ให้กับภาคขยายอีกทีหนึ่ง

           ส่วนที่เครื่องเล่นบางประเภทจะไปแยกรายละเอียดของระบบเป็น ภาคปรีโฟโน ภาค DAC รองรับและถอดรหัสสัญญาณดิจิตอล ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

          2. ภาคขยาย หรือ Amplifier ที่มีหน้าที่อยู่สองส่วน

           – ส่วนแรกคือ ภาคปรีแอมป์ Pre-Amplifier ที่จะนำเอาสัญญาณขนาดเล็กมาปรับแต่งให้เหมาะสม และคัดสรร จัดส่งไปยังภาค Power Amplifier หรือภาคขยาย สำหรับขยายสัญญาณให้ใหญ่ขึ้น พอเพียงที่จะขับเสียงลำโพงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

          – ในภาคขยายสองส่วนหลักนี้ จะรวมกันหรือแยกกัน เพื่อจุดประสงค์ในการพัฒนาหรือปรับปรุงในวันข้างหน้าก็แล้วแต่จุดประสงค์ของผู้ออกแบบ ถ้ารวมกันเราเรียกว่า Integrated Amplifier นั่นเอง

           และถ้ามีการแทรกอุปกรณ์ปรับแต่งเสียงและย่านความถี่เข้าไป เราอาจจะมี Sound Processer หรือ Equalizer เสริมเข้าไปด้วย

          3. ลำโพง ซึ่งก็จะมีการออกแบบที่พลิกแพลงแตกต่างกันไปตามรสนิยมของผู้ฟัง และไอเดีย หรือการแปลเจตนารมย์ เสียงดนตรีของผู้ผลิต

           ทั้งลำโพงตู้เปิด ลำโพงตู้ปิด ลำโพงแพสสีพเรดิเอเตอร์ ลำโพงแยกส่วน ลำโพงไร้ตู้ ลำโพง Sub-satellite ลำโพงป้อนไฟฟ้า-อีเล็กโทรสแตติก และอื่นๆ

          ในรายละเอียดเรื่องนี้จะนำไปกล่าวกล่าวในส่วนที่เป็นเรื่องราวของลำโพงโดยเฉพาะ

           สองส่วนรอง ที่กล่าวถึงคือ

          1. อุปกรณ์เพื่อการเชื่อมต่อ เช่นสายลำโพง สายนำสัญญาณ สายไฟ สายอากาศ สายอนาล็อก สายดิจิตอล

          2. อุปกรณ์เพื่อการปรับแต่งภายนอกอาทิ ตัวรอง อุปกรณ์วางทับบนเครื่อง และอื่นๆ ที่อาจจะจัดให้เป็น แอกเซสซอรี่ ส่วนเสริม

           ทั้งหมดที่นำเสนอมานี้ ดูเหมือนว่าท่านผู้อ่านก็คงคิดว่าใครเค้าก็รู้ทั้งนั้น ละ?

           แต่ที่ผมอยากจะนำมาทบทวนอีกครั้งก็เพื่อให้เราได้เข้าใจว่า โดยระบบหลัก และระบบรองนี้ เราได้นำมาผสมผสานปรุงแต่ง แยกแยะ ออกไปด้วยวิธีการเล่นแบบใดบ้าง

           เพราะการเล่นเครื่องเสียงในระบบสเตอริโอโฟนิกนั้น ยังมีวิธีการเล่นที่แตกต่างหรือใช้เครื่องมือให้มีความสลับซับซ้อนออกไปอีก

          ดังจะยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

           1. การเล่นในระบบสเตอริโอเชิงเดี่ยว ยกตัวอย่างภาพให้เห็นง่ายๆ ก็คือ แอมป์หนึ่งเครื่อง ต่อสายลำโพงหนึ่งชุด แยกซ้ายขวาให้กับลำโพงหนึ่งคู่ นั่นคือ Stereophonic หรือ ในการเชื่อมต่อลำโพงจะใช้สายชุดเดียว หรือ Single Wired

           2. การเล่นในระบบสเตอริโอเชิงซ้อน ด้วยการใช้สายลำโพงแยกออกเป็น 2 ชุด เพื่อแยกเสียงแหลม และเสียงทุ้มออกจากกันอย่างเป็นอิสระ สำหรับระบบลำโพงชนิด Bi-Wired 

           วิธีการนี้หลายคนเชื่อว่าจะทำให้เสียงปลอดโปร่งและเข้าถึงรายละเอียดมากขึ้น แต่จุดอ่อน คือถ้าแอมปลิไฟล์คุณภาพไม่พอเพียงจะทำให้เกิดการผิดเฟสของเสียงได้ (Phase shift)

          3. การเล่นในระบบสเตอริโอเชิงซ้อนด้วยการแยกแอมป์ ขับความถี่ เป็น 2 หรือ 3 ชุด หมายถึงต้องใช้แอมป์ 2 หรือ 3 เครื่อง แยกกันขับความถี่ให้กับลำโพง เป็น

– ไบ-แอมป์ Bi-Amplification 2 ชุด

– และไตร-แอมป์ Tri-Amplification 3 ชุด

           ลำโพงที่นำมาใช้ร่วมกัน ก็จะต้องแยกขั้วลำโพงออกเป็น 2 หรือ 3 ชุด ด้วยเช่นกัน

           ระบบนี้ จะไม่ใช่แค่เพียงแยกสายออกมาเป็นสองชุด สามชุด แต่จะแยกแอมป์ขับความถี่ ทุ้ม กลาง แหลม ออกจากกันไปด้วยเลย

           กล่าวได้ว่า ระบบ ไบ-แอมป์ หรือไตร-แอมป์ มีผลให้ก่อกำเนิดการออกแบบลำโพง Subwoofer แบบ passive ขึ้นมา  โดยลำโพงซับวูฟเฟอร์ชนิดนี้จะต้องใช้แอมปลิไฟร์ ภายนอกมาขับเสียงย่านความถี่ต่ำเฉพาะ

           ระบบ Bi-Amplifications นี้ค่อนข้างที่จะมีความสลับซับซ้อนมาก และจะให้คุณภาพเสียง รายละเอียดเสียงในระดับที่สูงมากเช่นเดียวกัน เพียงแต่ในแต่ละช่วง ของการเชื่อมต่อ ย่อมมีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้เช่นเดียวกัน

           สิ่งเหล่านี้ มีมาก่อนที่ระบบของซับวูฟเฟอร์จะพัฒนามาเป็นแบบบรรจุแอมปลิไฟล์เข้าไปในตัวตู้ เป็นแบบแอคทีฟซับวูฟเฟอร์ (Active Subwoofer)

           ระบบ Bi-Amplification หรือ Tri-Amplifications นั้น เพาเวอร์แอมป์ที่ใช้ขับเสียง จะต้องรับสัญญาณผ่านมาจากตัวแอคทีฟ ครอสโอเวอร์ Active Crossover Network ที่มีหน้าที่ในการช่วยตัดแบ่งความถี่ ในแต่ละย่าน คือ High – Mid – Low

           ระบบนี้ เป็นที่นิยมในกลุ่มนักเล่นประเภทไฮเอ็นด์ หรือออกแนวซีเรียสออดิโอ มาช้านาน แม้ปัจจุบันจะนิยมระบบสเตอริโอเชิงเดี่ยวธรรมดา แต่นักเล่นระดับลึกๆ ยังคงมีการเล่น Bi-Amplification อยู่

           หรือลำโพงไฮเอนด์บางรุ่นบางแบรนด์ ก็ยังคงนำเอาระบบ แยกแอมป์ ขับโดยมีอีเล็กทรอนิกส์ครอสโอเวอร์ เป็นตัวตัดแบ่งความถี่มาใช้สำหรับแอมปลิไฟร์ เช่น B&W Nautilus เป็นต้น

           เป็นสิ่งที่น่าแปลกอยู่ไม่น้อยที่ระบบซึ่งใช้อิเล็กทรอนิกส์ครอสโอเวอร์ตัดย่านความถี่ สู่เพาเวอร์แอมป์หลายเครื่อง สำหรับขับลำโพงแยกกันดังกล่าวนี้ กลับมีใช้อยู่ในระบบเครื่องเสียงงาน Professional และเครื่องเสียงรถยนต์ มากกว่าเครื่องเสียงบ้าน

          การเล่นเครื่องเสียงปัจจุบันยังแบ่งออกเป็นการออกแบบระบบเสียงเฉพาะตัวอีก ระหว่างการเล่นเครื่องเสียงสเตอริโอ เชิงเดี่ยว เบสิก กับวิธี “การเสริมบน เสริมล่าง” ของย่านความถี่ นั่นคือ 

          – เสริม Super Tweeter  (เสริมบน)

          – เสริม Active Subwoofer (เสริมล่าง)

          บ้างก็เรียกวิถี การเล่นระบบเสียงออกเป็น

           ระบบ 2.0 Channel

           ระบบ 2.1 หรือ 2.2 Channel

           และไปไกลถึงการเสริม Active Subwoofer แบบ Stack Subwoofer

           สำหรับส่วนตัวผม เป็นคนเล่นเครื่องเสียงแบบยึดเอาความแฟลต สมจริง ใกล้เคียงเสียงดนตรีธรรมชาติ ไม่ได้มีความเห็นใดๆ ที่ขัดแย้งในวิธีการ ที่จะนำพาเราไปสู่ความสุขในเสียงดนตรีในทุกวิธีการ

           ถ้าตราบใด เสียงที่ย่านความถี่ใดขาดไป ไม่สมจริง เราก็สามารถเติมเต็มได้  จะต้องมานั่งคิดว่า มันผิดหรือถูก ไม่เหมือนคนอื่น เพื่ออะไรกัน เล่นเองก็ความสุขของตนเองครับ ใครจะมาทุกข์หรือสุขแทนเราได้

           หรือถ้ามันพอดีอยู่แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเสริมเข้าไปให้มันล้น หรือเกินจากความจริง  สิ่งเหล่านี้ ต้องถามตัวเองมากกว่า

           สิ่งเหล่านี้ วัดได้จากประสบการณ์เกี่ยวกับคุณภาพเสียง และสเกลของเสียงเป็นสำคัญ ซึ่งเคยอธิบายในหัวข้อ Tonal Balanced ไปหลายครั้งแล้ว

          เพียงแต่ผมไม่อยากเรียกว่า เป็นระบบ 2.0 หรือ 2.1 , 2.2 เพราะปกติการมิกซ์เสียงในระบบ Stereophonic ไม่มีสตูดิโอไหน ทำการมิกซ์ ช่องเสียง .1 มาเป็นการเฉพาะ เหมือนการมิกซ์เสียงระบบเซอร์ราวด์ในภาพยนตร์

          จึงสมควรเรียกว่า ระบบเสียงสเตอริโอ นี่ละครับ หรือจะเรียกว่า Stereophonic plus Subwoofer หรือ Stereophonic plus Super Tweeter ก็น่าจะกระจ่างชัดกว่า

           ผมไม่อยากกล่าวว่าการเล่นเครื่องเสียงด้วยวิธีการต่างๆ อะไรผิด อะไรถูก ทั้งซิงเกิ้ลไวร์, ไบร-ไวร์, ไบร์-แอมป์ เสริมซูเปอร์ทวีตเตอร์ เสริมซับวูฟเฟอร์ การวิพากษ์ วิจารณ์สิ่งใด ควรอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดใจให้กว้าง อย่าใช้ความคิดที่คับแคบที่คอยทำให้เราคอยจำกัดตัวเองไปตลอด

          ทุกรูปแบบและวิธีการเล่นเครื่องเสียงนั้นไม่มีรูปแบบใดที่ถือว่าสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ล้วนมีทั้งจุดอ่อนจุดแข็งที่จะต้องปรับแก้ไขให้สมบูรณ์แบบมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น สิ่งที่ควรพิจารณามากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของ..

          วิถีทางใด ที่ “พอดี – พอใจ” สะดวก เหมาะสมสำหรับเรา นั่นละครับสำคัญที่สุด

          ทุกอย่างมีเหตุและผลรองรับอยู่ในตัวเองเสมอครับ โปรดติดตาม เรื่องราวเบื้องลึกในประสบการณ์เล่นเครื่องเสียงกันต่อไปครับ  

          ซึ่งครั้งต่อไปจะมาแชร์ประสบการณ์  รูปแบบวิธีการเล่น จุดเด่น จุดด้อย ปัญหาของ Single Wired, Bi-Wired, Bi-Amplifications, Stereophonic plus Sub-Woofer and Super Tweeter

          ขอบพระคุณ ที่ติดตามกันต่อเนื่องครับ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here