The Light of Audiophile ตอนที่ 6

การเสริมระบบซับวูฟเฟอร์ ในการฟังเพลง

          การเสริมซับวูฟเฟอร์ในระบบฟังเพลง 2 แชนแนลนั้น มาจากเหตุผลที่ว่า ถ้าซิสเต็มในระบบฟังเพลงของเรา เสียงต่ำบาง เบสขาดสเกลเสียง อันเนื่องจากความสามารถในการตอบสนองความถี่ของลำโพงเสียงต่ำ Woofer ไปได้ไม่ถึงจริงๆ

           เพราะขนาดลำโพงเล็กเกินไป เช่น ลำโพงวางขาตั้งที่มีขนาดวูฟเฟอร์ เพียง 4-8 นิ้ว ที่ไม่อาจจะให้ทั้งปริมาณ และคุณภาพเสียงต่ำที่สมจริง (โดยไม่บีบเค้น) นั้นได้

           หรือต่อให้เราใช้ลำโพงตั้งพื้นขนาดใหญ่พอสมควร แต่เนื่องจากขนาดของห้องที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ เบสที่ควรจะได้จากลำโพง 2 ตู้ ก็ยังรู้สึกด้อยกว่าเสียงกลางแหลม ไม่สามารถที่จะเซ็ตอัพให้ได้คุณภาพเสียงต่ำที่สมบูรณ์ได้ คำตอบก็อาจจะต้องมาอยู่ที่การเสริม Sub-Woofer ครับ

          ช่วงปี 2542 ผมได้ให้คำปรึกษาด้านระบบเสียงให้ท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งชีวิตส่วนตัวท่าน เป็นคนเล่นเครื่องเสียง ในแบบอนาล็อก ฟังเพลง Classical ที่บรรเลงด้วยวงออเคสตร้าเป็นหลัก

           ที่สุดท่านได้ตัดสินใจซื้อลำโพงรุ่นท็อป ตู้ขนาดสูงท่วมบ้าน ขนาดวูฟเฟอร์ 12 นิ้ว สองตัวต่อตู้ มาฟังเพลงที่ชื่นชอบ แต่ก็ปรารภกับผมตลอดว่า เสียงของกีต้าร์เบส ดับเบิ้ลเบส กลองทิมปานี ขาดน้ำหนัก เบาบางไป

           ถ้าฟังในระดับเบาๆ แบบแบ็คกราวนด์มิวสิกนี่แทบไม่เหลือให้สัมผัสอรรถรสดนตรีช่วงความถี่ต่ำเลย

           ผมตัดสินใจจัดเอา Active Sub-Woofer ที่มีขนาดไดรเวอร์ 12 นิ้ว และ Sub Bass Radiator ขนาด 15 นิ้ว มาเพิ่มสองตู้ ซ้ายขวา โดยหาวิธีต่อจากปรีเอาท์ของปรีแอมป์ชุดที่ 2 และเซ็ตอัพหาความบาลานซ์เพื่อให้เกิดสมดุล ของความถี่ต่ำกับย่านกลางแหลมให้ลงตัว

           ต้องเข้าใจว่า เกือบสามสิบปีที่แล้ว แอคทีฟซับวูฟเฟอร์ยังมีความเฉื่อยของเสียงต่ำอยู่บ้าง ไม่เหมือนแอคทีฟซับวูฟเฟอร์สมัยนี้ ที่ดีไซน์ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย กรวยลำโพงใช้วัสดุที่ดี ให้การสนองตอบฉับไว เท่าทันความถี่กลางแหลม

           สำหรับซับแอคทีฟยุคเก่า ผมจึงต้องกำหนดจุดตั้ง และเซ็ตอัพอยู่ 2-3 ครั้ง จึงลงตัวในที่สุด

           ท่านเจ้าของซิสเต็มบอกว่า ได้เสียงที่ลงตัวประทับใจ ให้ประสบการณ์ใกล้เคียงในคอนเสิร์ตฮอลล์ จึงมีความสุขมาก ถือว่าแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้

          มาย้อนดูช่วงเวลาของการออกแบบซับวูฟเฟอร์ ที่น่าสนใจกัน

           ช่วงปี 1982 บริษัทนิปปอน กักกิ หรือยามาฮ่า ตัดสินใจออกแบบแอคทีฟ ซับวูฟเฟอร์ตัวแรก นั่นคือ NS-W1 โดยมีขนาดตู้ 50 ลิตร มีแอมป์ขับในตัว 45 วัตต์โมโน ที่ 6 โอห์ม แม้ไดรเวอร์จะมีขนาดเพียง 10 นิ้ว แต่ดีไซน์เนอร์อธิบายว่า ตัวขับเสียงถูกออกแบบให้ครอบคลุม ตอบสนองความถี่ต่ำเฉพาะ จึงต่างไปจาก Woofer ทั่วไป มีความสามารถแสดงผลความถี่ต่ำลงลึกได้ถึง 20Hz

           ในเวลาเดียวกันนั้น ทาง Bose และ M&K แห่งอเมริกา เป็นรายแรกๆ ที่ออกแบบลำโพงเมนหลักกลางแหลมแยกส่วนออกจาก Sub-Woofer แบบแพสสีพ ซึ่ง M&K ใช้ชื่อระบบว่า Sub-Satellite เป็นการแก้ปัญหาขาดความถี่ต่ำ ประการหนึ่ง และให้ความสะดวกในการจัดวางภายในห้องขนาดย่อมๆ

           จากนั้นมีบริษัทเครื่องเสียงบางแห่ง อาทิ Dave Hall เปิดตัว Velodyne Acoustics ในปี 1983 เพื่อเน้นผลิตซับวูฟเฟอร์โดยเฉพาะ เทคโนโลยีล้ำสมัยของ Velodyne คือระบบเซอร์โวคอนโทรล

          ระบบนี้ จะนำเอาปฏิบัติการดิจิตอลช่วยรายงานจากสถานการณ์ใช้งานจริง ซึ่งจะช่วยควบคุมมิให้ซับวูฟเฟอร์ส่งเสียงผิดเพี้ยน (Digital High Gain Servo Control)

          มีระบบอีควอไลเซอร์ EQ Plus ที่จะทำให้สามารถปรับซับวูฟเฟอร์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์การใช้งานของแต่ละบุคคล และห้องต่างๆ อย่างเหมาะสม

           บริษัท Sunfire เคยออกแบบซับวูฟเฟอร์ที่เน้นให้มีขนาดเล็กมากๆ แต่มีพลังขับอย่างชนิดสั่นสะเทือนห้อง ซึ่งในช่วงเวลาขณะนั้น พ่อมดอิเล็คทรอนิกส์ บ๊อบ คาร์เวอร์ มีส่วนในการออกแบบภาคขยายคลาส T ขนาดเล็กแต่กำลังขับสูงที่สุดในโลก บรรจุลงไปในตู้ซับวูฟเฟอร์

          บริษัท Rel Acoustics เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่เน้นการผลิตซับวูฟเฟอร์คุณภาพสูง โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากความพยายามที่จะทำให้เสียงต่ำมีมิติที่สมบูรณ์ ในระบบโฮมออดิโอ ย้อนคืนไปสู่รสชาติของการแสดงคอนเสิร์ตที่สมบูรณ์

           บริษัท KEF แห่งอังกฤษ ที่ถือว่าเป็นบริษัทลำโพงอนุรักษ์นิยม ที่ประสบผลสำเร็จที่สุดในระดับโลกได้ออกแบบแอคทีฟซับวูฟเฟอร์ ออกมาหลายรุ่น อาทิ REFERENCE 8b ที่ใช้ตัวขับ 9 นิ้ว พร้อมแอมป์คลาส D กำลังขับ 500 วัตต์ x 2 

           ซับวูฟเฟอร์ รุ่น KC62 ที่มีขนาดกะทัดรัดที่สุด รวมถึงรุ่นใหม่ KC92 ที่มีขนาดกลางๆ ตัวขับ9 นิ้วและแอมป์คลาส D 1000 วัตต์!!!

          ในแง่ของการใช้ Sub-Woofer กับระบบฟังเพลงในบ้าน ผมไม่เห็นว่าจะเป็นสิ่งผิดแปลกพิสดาร หรือย้อนแย้งอะไร ตราบเท่าที่ผู้ฟังยังรู้สึกว่า เสียงต่ำมีสเกลเสียงที่เบาบาง ไม่เต็มที่เหมือนความถี่กลางแหลม เราก็สามารถเพิ่มเข้าไปได้

          แต่… ต้องเพิ่ม เสริมลงไปอย่างเหมาะสม และเข้าใจเรื่องของการเซ็ตอัพ สี่ประการ ที่สำคัญยิ่ง คือ

1. สถานที่วาง และจำนวนของตู้ซับวูฟเฟอร์

2. การปรับค่าจุดตัดครอสโอเวอร์

3. การปรับระดับความดัง Level

4. การปรับ Phase

           ในตอนถัดไป The Light of Audiophile ตอนที่ 7 เราจะมาพิเคราะห์ เรื่องเทคนิคเบื้องต้นในการเซ็ตอัพ ปรับค่าแอคทีฟซับวูฟเฟอร์กันครับ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here