The Light of Audiophile ตอนที่ 7

0
1450

The Light of Audiophile ตอนที่ 7

เทคนิคการเซ็ตอัพ และปรับค่าซับวูฟเฟอร์ ในการฟังเพลง 2 แชนแนล

           บทความตอนนี้ จะกล่าวถึงหลักปฏิบัติซึ่งเป็นประสบการณ์ส่วนตัวของผม ในการปรับตำแหน่ง และเซ็ตค่าแอคทีฟซับวูฟเฟอร์ โดยขอแบ่งแยกรูปแบบตู้ซับดังต่อไปนี้

1. ตู้ซับวูฟเฟอร์แบบตัวขับยิงเสียงออกด้านหน้า (ทั้งมีท่อพอร์ต และตู้ปิดทึบ)

2. ตู้ซับวูฟเฟอร์แบบตัวขับยิงเสียงลงพื้นด้านล่าง (down firing)

3. ตู้ซับวูฟเฟอร์แบบตัวขับยิงเสียงลงพื้นด้านล่าง หรือออกด้านหน้า แต่มีแพสสีพเรดิเอเตอร์ยิงเสียงออกซ้าย-ขวา (two ways)

4. ตู้ซับวูฟเฟอร์แบบตัวขับยิงเสียงออกสองด้าน (two ways)

          ด้วยการออกแบบในเทคนิคที่แตกต่างเหล่านี้ การเซ็ตตำแหน่งที่วางตู้ซับ ก็จะต้องหาวิธีมีความเหมาะสม และให้ความลงตัวที่แตกต่างกันไป

           ตำแหน่งที่ SET UP สำหรับท่านที่ต้องการเซ็ตเอง แบบค่อยๆ เรียนรู้ และหาจุดตำแหน่งที่เหมาะสมคือ

       🔘 ในภาพ FIG 1 เซ็ตอัพซับวูฟเฟอร์ แบบสเตอริโอ สองตู้ ซ้ายขวา ให้เลือกตำแหน่งในแบบ “โอบล้อมลำโพงหลัก” โดยเลือกในแต่ละทิศทาง ได้ทั้ง หน้า-หลัง-ซ้าย-ขวา วางห่างลำโพงหลัก ณ. ตำแหน่งใด ตำแหน่งหนึ่ง ให้เป็นเงาซ้อน ห่างลำโพงหลักประมาณ 1 ฟุตขึ้นไป จุดใดเหมาะสมที่สุด เลือกจุดนั้นครับ

           การเซ็ตแบบนี้ จะยืดหยุ่นได้มากที่สุด และเหมาะกับห้องขนาดเล็ก 12 ตารางเมตร จนถึงห้องขนาด 35-40 ตารางเมตร

          🔘 ในภาพ FIG 2 คือเซ็ตอัพซับวูฟเฟอร์ แบบสเตอริโอ สองตู้ ซ้ายขวา โดยวางเป็นมุมเฉียง 45 องศา จากลำโพงหลัก ระยะห่างเริ่มที่หนึ่งฟุตเป็นต้นไปเช่นกัน

          นี่อาจจะเหมาะกับขนาดห้องที่มีบริเวณกว้างลึกเกิน 15-20 ตารางเมตร ขึ้นไป

          🔘 ในภาพ FIG 3 คือการใช้ซับวูฟเฟอร์ตู้เดียว ด้วยการวางตรงกึ่งกลางระหว่างระนาบเดียวกับลำโพงซ้ายขวา โดยถอยหลังลึกเข้าไปจากระนาบ ห่างหรือชิดผนังแค่ไหน ให้เริ่มทดลองดู ขยับทีละตำแหน่ง ทีละเล็กน้อย หาตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุด

          🔘 การใช้ซับวูฟเฟอร์ตัวเดียวนั้นอาจจะเซ็ตได้ไม่ยากนักก็จริง แต่ทั้งคุณภาพและปริมาณความถี่ต่ำจะต้องเกลี่ยให้กลมกลืนกับระบบซิสเต็มลำโพงหลัก มิฉะนั้นมันจะทำให้เรารู้สึกว่า จุดที่ความถี่ต่ำตกกระทบเป็น “ระดับเสียงดังมากกว่าลำโพงหลัก” นั้น เป็นตัวต้นเหตุทำให้รบกวนความถี่อื่นให้จมหายไป

          🔘 ในกรณีลำโพงซับวูฟเฟอร์ ที่มีการยิงเสียงสองทิศทางไปด้านซ้าย-ขวา หรือซับวูฟเฟอร์ที่ยิงเสียงลงพื้น (down firing) จะทำให้เซ็ตเสียงได้กลมกลืนง่ายกว่า ตู้ซับแบบยิงมาด้านหน้าโดยตรง อีกทั้งจะทำให้เสียงต่ำกินบริเวณกว้างลึกได้มากยิ่งขึ้น

          🔘 เนื่องจาก จุดประสงค์ในการเซ็ตอัพ ซับวูฟเฟอร์ ก็คือทำอย่างไรก็ได้ ให้เพิ่มปริมาณ และคุณภาพความถี่ต่ำ “กลมกลืน” ในปริมาณที่ “พอดี”

           หรือมีสเกลสัดส่วนย่านความถี่ต่ำใกล้เคียงกับความถี่กลางแหลมของลำโพงเมนหลัก ซ้าย ขวา

           ซับวูฟเฟอร์ ไม่ควรที่จะปรับให้มีปริมาณเสียงดัง ความถี่กระทุ้งกระแทก แล้วระบุจุดตำแหน่งที่ตั้งหรือตัวตนของมันเอง ว่าอยู่ ณ.ตรงจุดใด อันนั้นถือว่าเป็นการเซ็ตอัพที่ไม่ถูกต้อง

          ต่อจากนี้ คือการปรับค่าหลักๆ 3 ค่าที่สำคัญ ในตู้ซับวูฟเฟอร์ครับ

          🔘 ปุ่มปรับระดับความดัง Level หรือ Volume

          🔘 ปุ่มปรับจุดตัดความถี่ Crossover Network

          🔘 ปุ่มปรับ Phase 0-180 องศา

✳️หลักการเบื้องต้นโดยทั่วไปก็คือ จะต้องปรับปุ่มของระดับความดัง Level หรือ Volume ให้อยู่ในระดับ 10.00 ถึง 12:00 น. (กึ่งกลาง) โดยประมาณ

           เพราะที่ระดับความดังขนาดนี้มักจะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการปรับ ลด หรือเพิ่มอีกเล็กน้อย ของระดับเสียงซัพวูฟเฟอร์โดยทั่วไป

          ✅การปรับระดับความดัง Level หรือ Volume จะต้องทำควบคู่กับจุดตัดความถี่ครอสโอเวอร์เสมอ

          ✅ ให้เลือกจุดตัดความถี่ที่ต่ำที่สุดของซับวูฟเฟอร์ ตู้นั้นๆ เอาไว้ก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น40 หรือ 50Hz

           ย่านความถี่จุดตัดยิ่งสูง อัตราเสียงต่ำจะกระแทกกระทั้นมากขึ้น ดังนั้นจงหาจุดที่สมดุลกับความถี่ต่ำของลำโพงเมนหลักให้ได้

          📍แนะนำว่า ไม่ควรจะเลือกตัด ความถี่ครอสโอเวอร์สูงเกิน 100 เฮิร์ตซ์ โดยไม่จำเป็น เพราะส่วนมากแล้วจุดตัดสูงๆ จะทำให้เสียงเบสโด่งนำหน้าความถี่อื่น

          ✅ความถี่จุดตัดจะต้องปรับคู่กับ Volume อยู่เสมอ และต้องปรับทีละเล็กทีละน้อยอย่างละเอียดที่สุด ก็เพราะว่า ตรงจุดครอสโอเวอร์นี้ จะทำให้รอยเชื่อมต่อของความถี่ต่ำ ระหว่างลำโพงเมนหลัก กับความถี่ต่ำจากตู้ซับวูฟเฟอร์นั้นสามารถกลมกลืนกันได้

          ✅เมื่อปรับค่าของซับวูฟเฟอร์ ได้ค่อนข้างกลมกลืนแล้ว (หรือมีปัญหาว่าเบสบางส่วนยังคงเดินช้ากว่าเสียงกลางแหลม) ให้ลองปรับค่าที่ Phase 0-180 ดู เป็นลำดับสุดท้าย

          ไม่ควรปรับค่าเฟสไปทางเฟสลบ -180 องศา ในระหว่างจูน Volume และ Crossover แต่ให้ปรับดู หลังจากปรับค่าทุกอย่าง และให้เสียงได้ลงตัวแล้ว

          ปุ่มปรับค่าเฟสนี้ ซับบางตู้ อาจจะเป็นสวิตช์ เลือก บวก 0 และ ลบ 180 องศา แต่ ซับวูฟเฟอร์ราคาสูงๆ มักจะเป็นปุ่มเกนโวลุ่ม ให้เราเลือกค่าเฟสแปรผันไปทีละน้อยได้

           ยังมีอีก 2 เทคนิค สำหรับการเสริมตู้ซับเข้าไปในระบบฟังเพลง ซึ่งเป็นวิธีการของงาน Professional เมื่อนานมาแล้ว เหมาะกับห้องฟังเพลงที่มีขนาดใหญ่ และเสียงเบสเบาบางเกินไป ก็สามารถใช้วิธีดังกล่าวนี้ได้

          1. Inverted Stack Cardioid วางตู้ซับวูฟเฟอร์ ซ้อนกันสองถึงสามตู้ต่อแชนแนล อาจจะมีการวางยิงเสียงมาด้านหน้าทุกตู้ หรือสลับบางตู้ยิงมาด้านหน้า บางตู้ยิงไปด้านหลัง แล้วแต่การ คำนวณค่า หรือเซ็ตอัพ จะทำให้ได้มิติของเสียงเบสและความกว้างลึกของเสียงต่ำสมบูรณ์มากขึ้น การวางตู้ทับซ้อนขึ้นไป ช่วยให้เปลืองพื้นที่น้อยที่สุดภายในห้อง

           สิ่งสำคัญก็คือตู้ซับจะต้องถูกออกแบบมาเพื่อให้วางซ้อนกันได้ ไม่ควรนำตู้ซับวูฟเฟอร์ที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการนี้มาวางซ้อนกันนะครับ

          2. End Fire Cardioid เป็นอีกเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของเทคนิคการวางตู้ซับวูฟเฟอร์ซึ่งในกรณีนี้ มีอยู่หลายวิธี ทั้งการวางตู้หน้า-หลัง ในลักษณะเฟสบวกหรือการวางชิดกันสามตู้ โดยมีการยิงเสียงต่างทิศทางกัน

           ต้องมีการคำนวณการเว้นระยะห่าง เพื่อการคอนโทรลความถี่ต่ำ อันเนื่องมาจากบางครั้งมีปัญหาการรบกวน มีการเลี้ยวเบนของเสียงต่ำที่กระจัดกระจาย ออกรอบทิศทาง หรือการทับซ้อนกันเองของความถี่ต่ำ

           ซึ่งวิธีนี้ จะเหมาะสำหรับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการเซ็ตอัพ โดยเฉพาะครับ

           บทสรุปคือการเล่นเครื่องเสียงย่อมมีหลายวิธีการและการเสริมตู้ซับวูฟเฟอร์เข้าไปนั้น ถ้าเราใช้เทคนิคที่ถูกต้องก็จะทำให้ความถี่ต่ำนั้นสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

           โดยให้ยึดหลักที่ว่า หากระบบเสียงภายในห้องนั้นยังขาดความสมบูรณ์ที่ความถี่ใดความถี่หนึ่ง เราก็สามารถเสริมเข้าไปได้  โดยคำนึงถึงเรื่องโทนัล บาลานซ์ และสเกลของความถี่เป็นสำคัญครับ

          โปรดติดตามบทความ The Light of Audiophile ในตอนต่อไป ด้วยเรื่องราว ของการดีไซน์ลำโพง

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here