The Light of Audiophile

ประทีปแห่งออดิโอไฟล์ ตอนที่ 1

เป็นคำถามที่น่าเครียดไหม อะไรคือเสียงดี?

          ผมอยากจะเขียนบทความแบ่งออกเป็นตอนๆ เกี่ยวกับเส้นทางสว่างที่เราจะเล่นเครื่องเสียงอย่างมีความสุข ซึ่งต้องเรียนเอาไว้ก่อนเป็นเบื้องต้นว่าเป็นหลักคิดส่วนตัวของผมเท่านั้น

           ไม่ได้หมายความว่าท่านจะต้องยึดเป็นแบบอย่าง ถือว่านี่ เป็นการแชร์ประสบการณ์ต่อแฟนคลับทุกท่าน

          คิดในทางที่ดีเอาไว้ก่อนคือเหมือนเราอยู่ในที่มืดและเรากำลังจะเริ่มเดินทาง มาช่วยกันจุดไฟแสงสว่าง ให้มีประกายมากพอเพียง ให้เป็นประทีปหลายดวง ที่จะนำพาเราไปสู่ความสุขของการเล่นเครื่องเสียง

          และบทความของผมก็เปรียบเสมือนประทีปดวงเล็กๆ เท่านั้น ขอให้ช่วยกันขยายความความคิดต่อๆ ไปครับ

           ถ้าจะกล่าวถึงเรื่องใด เห็นจะต้องเริ่มจากคำว่าเสียงดี นี่ละครับก่อนอื่น

           ผมรับทราบปัญหาเกี่ยวกับเครื่องเสียงสารพัดคำถามทาง Messenger มากที่สุด และมากอย่างไม่น่าเชื่อว่า การเล่นเครื่องเสียง มันจะเต็มไปด้วยปัญหาอะไรมากมายขนาดนี้

          เป็นมาตั้งแต่ยุคผมเขียนบทความ และเป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสารเครื่องเสียง นับถึงวันนี้ก็ 40 ปี สู่ยุคโซเชียล อะไรๆ ที่มันน่าจะลดลงมาบ้างในปัญหาเครื่องเสียง แต่กลับมีปัญหาทวีคูณมากขึ้นด้วยซ้ำ

          อย่างคำถามคลาสสิกที่ว่า เสียงที่ดีคืออย่างไร?  อะไรคือคำว่า เสียงดี จะตอบเป็นรูปธรรมแสนยากยิ่งนัก ต่อให้ทำสัมมนา นั่งฟังด้วยกัน ก็ยังจะหาคำตอบยากอยู่ดีละครับ

           ผมว่า การที่มีสื่อโซเชียลมากขึ้น ก็มีข้อดีนะครับ ใครอยากจะหาข้อมูลก็สามารถเสิร์ชหาได้ มีเพจเครื่องเสียงมากมาย ให้พิจารณาวิเคราะห์ ทั้ง เว็บไซต์ เพจของนักเล่น กูรู ร้านค้า ค่อนข้างจะมากพอ

          แต่ข้อเสียก็มีเช่นกัน คือ อ่านมาก ฟังมาก ก็มีโอกาสสับสน หลงทางได้มากเช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีหลักยึด

           หลักยึดที่ว่า คืออะไร ก็อยากให้เป็นข้อสังเกตเอาไว้สักเล็กน้อยครับว่า ถ้าจะเรียนรู้สิ่งใดนั้น คำว่าดี เสียงดีจะมีได้ก็ต่อเมื่อ

  1. เริ่มต้นจากความรักชอบและประสบการณ์ตัวคุณเองเป็นหลัก

           คือถ้าไม่รู้ว่าตัวเองชอบสิ่งใดแล้ว เราจะไปควานหาจากสิ่งที่ชอบของคนอื่นนั้น มันจะได้อย่างไรเล่า

           ผมจึงชอบกล่าวคำว่า “ค้นพบตัวเองก่อน ค้นพบเครื่องเสียง” เสมอ

           ถ้าค้นพบเครื่องเสียงแล้วไม่พบตัวเองก็เปล่าประโยชน์ครับ

           เครื่องเสียงที่ดีสำหรับพวกเราทุกคน มักจะเริ่มต้นด้วยรูปทรงดีไซน์สวยงาม เคียงคู่ไปกับ คุณภาพเสียงอันถูกใจทั้งสองประการ ไม่ใช่แค่เฉพาะสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น

           และการที่จะโฟกัสหาเสียงที่ดีนั้นต้องเริ่มต้นที่สไตล์เพลงของเรา และศิลปินคนโปรดของเราเท่านั้น

           โปรดทบทวนความคิดดีๆ ว่า หลักๆ นั้น เราฟังเพลงสไตล์ใด ศิลปินคนโปรดคือใคร เมื่อจะต้องใช้เวลาพูดคุย สอบถามจากผู้อื่น ก็หาผู้ที่ชอบแบบเดียวกัน เข้าใจแบบเดียวกัน ก็จะได้สานต่อ ขยายความในสิ่งนั้นๆ อย่างเข้าใจได้มากยิ่งขึ้น

          สนทนากับผู้ที่ไม่ได้รักชอบในสิ่งเดียวกับเราก็เป็นการสูญเสียเวลาเปล่า

           และขอย้ำ ถึงหลักการที่ว่าสไตล์ความชื่นชอบและประสาทรับรู้ที่หูของเราย่อมเป็นหลักก่อนสิ่งอื่นเสมอ

2. ทางสายกลางแห่งการเรียนรู้ และแสวงหาประสบการณ์การฟังเครื่องเสียง

           เมื่อพื้นหรือรากฐานข้อแรก ของคุณแน่น แนวทางปฏิบัติเป็นเส้นตรง มีความแน่วแน่ ก็จงเริ่มเดินทางสู่ประสบการณ์ฟังให้ได้มาก และช่ำชองที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

          เหมือนตั้งใจเดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ที่มีโอกาสเลือก มีโอกาสทดลองได้มากที่สุด แต่ในขณะที่มีเป้าหมายชัดเจนในใจมาแล้วนั่นเอง จะได้ไม่เขวทิศทาง

           เหมือนเดินเรือใน “ทะเลไฮไฟ” อาจจะมีทรัพย์สินในน้ำหลายหลากมากมาย ละลานตา ให้เลือกไขว่คว้า แต่ถ้าเข็มทิศ หรือเส้นทางคุณแม่น ก็จะไม่จมหายไปในทะเลนั้น จนกู่ไม่กลับ หรือไม่เลือกในสิ่งขัดแย้งกับความตั้งใจข้อแรกมา

           หลักคิดง่ายๆ คือไม่ว่าอะไรก็ตาม ที่เกินไปจากทางสายกลาง ก็ให้ยับยั้งชั่งใจเสียหน่อยครับ

           ที่สำคัญ อย่าวิ่งหลงเข้าไปแต่เฉพาะที่ ผลการตอบสนองความถี่ ฟังความถี่ เล่นกับความถี่ และฟังเสียงความถี่ หรือระดับความดังมากขึ้นของความถี่ใดความถี่หนึ่งโดยเฉพาะ

           ให้คำนึงว่า ถ้าต้นฉบับเพลงจากสตูดิโอที่พยายามบันทึก เสียงดนตรีให้เสมือนจริง เครื่องเสียงย่อมสมควรถ่ายทอดเสียงนั้นออกมาโดยเที่ยงตรงเสมือนจริงด้วย  และโดยส่วนใหญ่ผู้บันทึกเสียงจะรักษาเนื้อความของดนตรีให้เป็นไปตามที่ศิลปินและโปรดิวเซอร์ต้องการ

          คือ Record มาดี  Playback ก็ควรจะดีตามต้นฉบับ ไม่ใช่มากกว่า หรือด้อยกว่า ต้นฉบับ  

    ระบบเครื่องเสียงทั้งซิสเต็ม ควรทำเสียงเหล่านั้น ออกมาให้สมบูรณ์แบบ

           สังเกตง่ายๆ มันจะเป็นความลงตัวมากกว่าโดดเด่นด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น

           อะไรที่เกินพอดี แรกๆ คุณจะฟังสนุกตื่นใจ แต่จะฟังไม่ได้นาน ก็จะเริ่มเครียด และตามมาด้วยข้อตำหนิในใจมากมายและชัดเจนในที่สุดครับ

3. เลือกทุกสิ่งในขณะที่ใจผ่อนคลายเสมอ ต้องมีเวลาอย่างพอเพียง ไม่ใช่เคร่งเครียด มุมานะจนเกินงาม หรือเร่งร้อน

           วิถีชีวิตในปัจจุบันทำให้เราทุกคนมักจะเร่งร้อนในการเดินไปข้างหน้าและมักไม่ทบทวนอดีตในสิ่งที่เราผิดพลาดด้วย 

           สิ่งเหล่านี้แหละที่ติดตัวเรามาจนกระทั่ง กลายเป็นพฤติกรรมในการเลือกซื้อเครื่องเสียงด้วย เอาเร็ว เอาไวเข้าว่า

          บางคนถึงขนาดซื้อเครื่องเสียงโดยอนุมานเอาจากความนิยมในสื่อโซเชียล และมักจะเป็นผู้ที่บ่นว่าไม่ค่อยมีเวลามาฟังจริงเพื่อเลือกเครื่องเสียง

          คือถ้าคุณไม่มีเวลา แล้วใครจะมีเวลาให้คุณ แล้วคุณจะเลือกสิ่งที่ถูกต้องได้อย่างไร

           การเล่นเครื่องเสียงก็ไม่ใช่การที่จะเอาชนะอะไรซักอย่างหนึ่ง เหมือนเกมกีฬาที่ต้องต่อสู้กับใคร แต่สิ่งที่ต้องต่อสู้ก็คือความรู้สึกที่ถูกต้องของตัวเองเท่านั้น

           การทดลองฟังเครื่องเสียง การหาประสบการณ์จากร้านค้า จะเป็นบ้านเพื่อน หรือสถานที่ใดที่หนึ่ง แม้แต่งานแสดงเครื่องเสียง ต้องระลึกเสมอว่าการฟังเครื่องเสียง จะรับรู้ได้ถึงขนาด ตรงต้องกับใจหรือไม่นั้น ในแต่ละครั้ง ต้องมีระยะเวลาการฟังที่ยาวนานพอเพียงไม่ใช่แค่ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว

           คือมันต้องมีระยะเวลาที่มากพอที่เรามั่นใจได้ว่าเครื่องเสียงชุดนี้ลำโพงคู่นั้น จะอยู่กับเราได้นาน แสนนานเช่นเดียวกัน “เวลา” จึงสำคัญที่สุด

          ถ้าแม้นปราศจากความชำนาญในการฟังมากเท่าไหร่ ก็สมควรที่จะใช้เวลาในการฟังมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

           เวลาและจำนวนครั้งที่ฟังซ้ำแล้วซ้ำอีกกับบทเพลงที่คุ้นเคย และเป็นสไตล์ที่ชื่นชอบ อาจจะช่วยเราพิจารณาได้ว่าเครื่องเสียงหรือลำโพงชุดนั้นๆ จะคงอยู่กับการฟังเพลงของเราได้อย่างยาวนาน

          โปรดหยุดคิด สักพักหนึ่ง แล้วติดตามต่อในตอนที่สอง ถัดไปครับ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here