Rogers LS3/5A Classic ลำโพงคู่ชีวิต Part 2

0
5729

Rogers LS3/5A Classic

ลำโพงคู่ชีวิต Part 2

           จากนี้ไป เราจะมาดูกันว่า Rogers LS3/5A Classic ที่นำเอาพิมพ์เขียวดั้งเดิมรุ่น 15 โอห์ม แรกสุดมาทำการผลิตขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยผู้บริหาร นักออกแบบชาวอังกฤษคือ คุณ Andy Whittle  มีความน่าสนใจอย่างไร ทีมวิศวกรด้านเสียงของ Rogers ได้คัดสรรความ ”ดั้งเดิม” มาพัฒนาให้ดียิ่งกว่า โดยการรับรองผลของ BBC อย่างเต็มที่

           กำเนิดใหม่ของ Rogers LS3/5A Classic ถือว่ามาอยู่ในช่วงเทคโนโลยีตัวขับ Driver และการผลิตลำโพงได้เจริญก้าวหน้าสุดขีด ตัวขับที่เลือกผลิต และนำมาใช้ครั้งนี้ ต้องบอกว่า “โคตรเข้มงวด” ตามมาตรฐาน BBC ทุกประการ หากย้อนอ่านทวนต้น ลำโพงต้นแบบเคยทำไว้อย่างไร ก็ยังต้องเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะตัวตู้ เดินตามตำราเป๊ะ เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงสุดขีดจริงๆ ด้วยการกลับไปใช้ตัวตู้เป็นไม้อัดเบิร์ชรัสเซีย ขนาดหนา 12 มม. ซีลรอยต่อทั้งตู้อย่างดี ไม่ให้มีรูรั่วแม้แต่เล็กน้อย

            ช่วงประกบมุม และโครงหลักต่างๆ ใช้เนื้อไม้บีช เนื้อแข็ง ผิวภายนอกใช้วีเนียร์ไม้จริงเคลือบวอลนัท โรสวูด และโอลีฟ ตามมาตรฐาน จัดแมตช์ให้มีลายสมดุลกันตลอดทั้งตู้ ซ้ายขวา A และ B

           ส่วนของกระจังหน้าหรือหน้ากากแบบผ้าถักทอ Tygan สีดำสวยงามในแบบดั้งเดิม เพิ่มเติมด้วยการยึดแผ่นผ้าติดด้านล่าง สำหรับช่วยดึงหน้ากากออกได้สะดวกขึ้น (แต่ก็ยังติดแน่นแข็งแรงด้วยตีนตุ๊กแกตามเดิม) หน้าตาเรียกว่า กลับไปเหมือนต้นแบบจริงๆ

            ยกเว้น ด้านหลัง ขั้วต่อลำโพงไม่มีขั้วไบดิ้งโพสยื่นออกมา แต่ทำเป็นตัวรับแบบรูกลมบานาน่า เรียบสนิทไปกับผนังหลังตู้ไปเลย แรกๆ ผมก็ไม่ชอบใจนัก คิดว่าทำไมแค่จัดขั้วลำโพงเยี่ยมๆ ให้ลำโพงสักคู่หนึ่ง มันจะลงแดงตายหรือไง!!! แต่พอมาพิเคราะห์หลังจากทดสอบฟังไปกับลำโพง LS3/5A ในอดีตทุกคู่ จึงเข้าใจว่าเพราะเหตุใด

            นั่นก็คือ ไดนามิคที่ทรงพลัง และอิมเมจเสียงแม่นยำราวจับวางของ LS3/5A Classic เป็นคำตอบครับ

            ก็คือความพยายามให้ช่วงต่อสายลำโพง ลัด-สั้นที่สุด เพื่อสัญญาณจากแอมป์จะเข้าสู่ครอสโอเวอร์ โดยไม่มีอะไรขวางกั้น ดังนั้นความยาวแค่นิ้วเดียวของขั้วลำโพงไบดิ้งโพส ก็มีผลมหาศาลต่อรายละเอียดเสียงแล้ว!!!

            ในส่วนของตัวตู้ทำมาประณีตสวยงาม ตู้ที่ผมได้รับมาเบิร์นและทดสอบนี้ เป็นสี Rosewood แดงฉ่ำได้ใจ แต่โดยความรู้สึกส่วนตัว ก็ยังไม่ค่อยชอบแผ่นสติ๊กเกอร์หนาแปะด้านหลังพร้อมลายมือเขียนซีรีส์นัมเบอร์นักเท่าไร ใจผมอยากได้เป็นแผ่นทองหรือเงิน แบบอลังการมากกว่า แต่ก็เถอะ… นี่คือรูปแบบคลาสสิกเดิมๆ ที่ไม่มีอะไรที่เกินเลย (ทุกตู้จะมีการแมตช์คู่ลำโพงเป็นซ้ายขวา มาตั้งแต่โรงงาน)

            อุปกรณ์ภายในถือเป็นการอัพเกรดที่ดีกว่า LS3/5A ทุกรุ่นในอดีต ด้วยการเลือกแผ่นพีซีบอร์ดแผ่นเดียวหน้าเดียวแบบไฟเบอร์กลาสเกรด A หม้อแปลงแกนเหนี่ยวนำ ในชุดครอสโอเวอร์แบบลามิเนต M6 ซึ่งจะแยกใช้กับทวีตเตอร์อีกหนึ่งชุด ส่วนตัวเก็บประจุคัดเกรดแบบเมทัลไลซ์แรงดันสูง โดยที่ส่วนประกอบทั้งหมดจะทำการบัดกรีด้วยมือด้วยตะกั่วเงิน!!!

            บางครั้งสิ่งที่มองไม่เห็น ก็สำคัญพอๆ กับที่มองเห็นได้ ….

           ทวีตเตอร์โดม Mylar พร้อมวอยซ์คอยล์งานแฮนด์เมด Nomex แบบดั้งเดิม ที่น่าทึ่งคือการสั่งผลิตตัวเบสยูนิต กลับไปใช้เทคนิคดั้งเดิมต้นแบบของ BBC ด้วยวัสดุกรวยแบบ เบ็กซ์ทรีน โคน (Doped Bextrene Cone) ลำโพงแต่ละชุดจะนำมาจับคู่แมตช์แพร์ วัดและทดสอบอย่างพิถีพิถันที่โรงงานของ Rogers ในสหราชอาณาจักร

            มีการวัดค่าของลำโพงทุกคู่ ทุกชุด และจัดเก็บบันทึกแต่ละซีเรียล นัมเบอร์เอาไว้ เพื่อช่วยให้เปลี่ยนไดรเวอร์ได้ง่ายขึ้นในอนาคตหากมีความจำเป็น

            นั่นหมายความว่าลำโพงในคู่ที่คุณซื้อไป ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนตัวขับเสียงด้วยเหตุใดก็ตาม เสียงจะต้องกลับมาเหมือนเดิมอย่างที่คุณเคยฟัง 100 เปอร์เซ็นต์เต็มครับ

           ที่สุดของที่สุด ในความประณีตพิถีพิถันทุกช่วงเวลาของงานประกอบลำโพง ดังที่ผู้ผลิตกล่าวว่า “รายละเอียดที่เล็กที่สุดไม่ได้สร้างความแตกต่างเล็กน้อย แต่สร้างความแตกต่างทั้งหมด ดังนั้น LS3/5A Classic ทุกคู่จึงมีมาตรฐานสูงสุด แม้แต่ช่องต่อสายลำโพงที่เป็นซ็อกเก็ตเรียบดังที่ผมคอมเม้นท์ไปตอนแรก คือซ็อกเก็ตมัลติคอนแทคชุบเงินแท้ ขนาด 4 มิลลิเมตรแบบ Single wired ที่ได้มีการนำเสนอต่อ BBC ว่ามันจะลดความผิดเพี้ยนการเชื่อมต่อได้ดีเยี่ยม จนได้รับการอนุมัติให้ปรับปรุงตรงนี้ได้ และในแง่เฟอร์นิชชิ่ง ผิวโรสวูด, วอลนัท และโอลีพ ทั้งสามสีผิวนี้ ทำด้วยมือโดยช่างฝีมือระดับปรมาจารย์ ในสหราชอาณาจักร สามารถอวดชาวโลกได้อย่างเต็มที่ครับ

            การทดสอบลำโพงมอนิเตอร์ขนาดเล็กรุ่นนี้ ผมใช้แหล่งโปรแกรมทั้งเครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องเล่นซีดี สตรีมมิ่ง ครบสูตร เพราะความเปลี่ยนแปลงในเพลงยุคนี้ ไม่เหมือนช่วงปี 1977 อีกต่อไป

            แอมปลิไฟร์ เพียวคลาส A แอมปลิไฟร์วงจรน้อยแต่ประสิทธิภาพสูง แอมปลิไฟร์หลอดสุญญากาศ วินเทจ ที่ต่อสายลำโพงในขั้ว 16 โอห์ม เพื่อย้อนการเล่นกลับไปในยุค 60-70 ช่วงที่ลำโพง LS3/5A กำเนิดขึ้นใหม่ๆ

            ที่สำคัญยกเอาลำโพงรุ่นดั้งเดิมทั้ง Rogers LS3/5A 15 โอห์ม รุ่นปรับปรุง 11 โอห์ม ลำโพง LS3/5A รุ่นขั้ว Bi-Wired ลำโพงที่ผลิตขึ้นมาใหม่ในช่วงปี 2010 ในเวอร์ชั่น 15 โอห์ม อีก 2 แบรนด์ มาเปรียบเทียบ รวมทั้งหมด 5 เวอร์ชั่น ในช่วงเปลี่ยนแปลงตัวขับและระบบครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์ก

            ทดสอบเปรียบเทียบกับ BBC Monitor LS5/12A ที่ เคยปรากฏตัวในแวดวงบีบีซีมอนิเตอร์ระยะหนึ่ง

            ท้ายสุดคือทดลองใช้งานร่วมกับ Rogers AB1 ตู้ซับวูฟเฟอร์ดั้งเดิม ยุคปี 90 ด้วย

            ผลสรุปน่าสนใจมาก ในฐานะคนสะสม LS3/5A นับเป็นช่วงเวลาที่ดี ที่ได้เรียนรู้ว่าลำโพงคู่นี้ถือว่าทรงคุณค่า ไม่ขึ้นกับกาลเวลาจริงๆ ผมใช้เวลารวมๆ กับลำโพง Rogers LS3/5A Classic อยู่นานร่วมเดือน นับแต่แรกที่ถูกสั่งตัวอย่างมาจากอังกฤษ ผ่านการเบิร์นตามที่ผมตั้งไว้ 180 ชั่วโมงครบถ้วน จากนี้ไปคือ ผลที่ได้จากการฟัง ของนักสะสมลำโพงตระกูล BBC Monitor LS3/5 A Classic

            การทดสอบใช้ขาตั้ง MAVIN รุ่นไม้ประดู่แดง รุ่นขาตั้งไม้แก่นกระพี้เขาควาย, ขาตั้ง Atacama, ขาตั้งลำโพง LOVAN SOVEREIGN A-6 (24 inches) ผมขอสรุปเรื่องขาตั้งก่อนว่า

            ขาตั้งโลหะเป็นขาตั้งที่ใช้คู่มากับ BBC Monitor LS3/5A กันมาเนิ่นนาน ซึ่งจะดีในแง่ พลังและความเด็ดขาดของหัวโน้ตดนตรี ที่ดูสมจริงสมจังและเบสลอยตัวเข้มข้นดีมาก ในกรณีคนที่ชอบเซ็ตอัพแบบละเอียดยิบขาตั้งโลหะของ LOVAN  SOVEREIGN A-6 จะเหมาะมากๆ รองลงไปคือ Atacama  สิ่งที่ต้องระวังนิดหน่อยคือต้องเซ็ตจนรู้สึกได้ว่า จะไม่มีเสียงคมแข็งใดๆ ออกมาในที่สุด

           ส่วนขาตั้งไม้ ผมมีขาตั้งไม้สักท่อนที่ทำขึ้นเอง ใช้มานาน ขาตั้งไม้ทุเรียนแบบไม้เบาพิเศษ ผลที่ได้คือขาตั้งไม้สักจะให้สมดุลของเสียงหรือโทนัลบาลานซ์ดีมาก แต่เสียงกลางช่วงบนอาจจะไม่เปิดกว้างที่สุดดังที่ต้องการ

            ขาตั้งไม้ประดู่ ของ MAVIN เสียงสงัด มีความอิ่มของเสียงลงตัวกับ Rogers LS3/5A Classic ดี แถมช่วงกลางบนก็เปิด เสียงสะอาด เบสลอยตัว ทว่าขาตั้งรุ่นไม้แก่นของกระพี้เขาควาย กลับจะให้เสียงแม่นยำกว่า อิมเมจแม่นกว่าขาตั้งไม้ประดู่ อีกทั้งให้ความอิ่มเอิบ น้ำหนักเสียงหนักแน่นจากมิดเบส จนถึงเบสลึกลงไปถึง 80Hz ได้สมจริงกว่าด้วย

           การเลือกขาตั้งทั้งหมดนี้ เชื่อว่าจะมีผลต่อเสียง อย่างพอสมควรสำหรับลำโพงมอนิเตอร์ที่มีความแม่นแม่นยำเสียงเช่นนี้ครับ

            เรียงลำดับความสมดุล ผมเรียงจาก ขาตั้ง MAVIN ไม้กระพี้เขาควาย กับขาตั้งโลหะ LOVAN  SOVEREIGN A-6 ควรเป็นตัวเลือกอันดับแรกครับ ขาตั้งไม้ได้เรื่องความงดงามเพิ่มเติม แต่ราคาอาจจะสูงขึ้นมา นอกจากนั้นให้พิจารณาตามความพอใจทั้งความพอดี ความสวยงามที่แต่ละท่านจะพึงพอใจ

           การจูนขาตั้ง ตรงนี้อย่ามองข้าม ให้ใช้ลูกน้ำวัดค่าเฉลี่ยด้านบนตู้ลำโพงให้สมดุลกันในทุกทิศทางด้วย ไม่ใช่แค่จูนเพื่อให้ขาตั้งเสมอกับพื้นห้องเท่านั้น เรื่องนี้ควรพิถีพิถันมากๆ นะครับ

            ระยะห่างระหว่างลำโพงซ้ายและลำโพงขวา ของ Rogers LS3/5A Classic โดยวัดจากจุดศูนย์กลางลำโพงถึงจุดศูนย์กลางลำโพงอีกตู้หนึ่ง จะต้องอยู่ระหว่าง 1.45 เมตร ถึง 1.50 เมตร เป็นหลัก มากน้อยกว่านี้ อาจจะได้ผลของเสียงที่ไม่สมดุลก็ได้ ส่วนระยะห่างจากด้านหลังผนังกับลำโพง จะมีจุดสมดุล ที่ 0.90 เมตร ถึง 1.20 เมตร ห่างออกไป  หรือใกล้กว่านี้ เล็กน้อยกับบางห้องได้ เพราะรูปแบบอคูสติกแต่ละห้องมีผลต่อเสียง ดังนั้นให้พิเคราะห์จากสมดุลของเสียง Tonal Balanced เป็นสำคัญ

            ขอย้ำเตือนว่า กรณีเซ็ตอัพความห่างผนังด้านข้าง จะต้องไม่เท่าระยะความห่าง ของผนังหลังถึงลำโพงโดยเด็ดขาด!!!

            ส่วนการนั่งห่างออกมาจากลำโพงทั้งคู่ ประมาณ 1.8 เมตร (ขึ้นกับความดังเฉลี่ยที่คุณฟัง)

            ขาตั้งลำโพงที่มี Spike แนะนำให้ใช้ จานรอง Spike ของ COLD RAY Spike protector 2 ทุกจุดครับ เพื่อความสงัดของเสียง ลดไวเบรชั่นส่วนเกินให้ชะงัดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าคุณต้องการเสียงซึ่งตรงต้องกับการออกแบบมาตั้งแต่ต้นรากฐาน ของ BBC

           Rogers LS3/5A Classic ก่อนเบิร์น ย่านความถี่ก็ยังถือว่าสมดุลน่าฟังมาแต่เริ่มต้น แต่เมื่อเบิร์นครบ 180 ชั่วโมงแล้ว คุณจะรู้สึกว่าเสียงมันช่างมีเสน่ห์เร้าใจมากมายเกินกว่าที่คาดไว้ เสียงหลุดตู้ แบบไร้กรอบจำกัด พลังไดนามิคกว้างลึก เวทีเสียงอลังการมากตรงนี้ เหนือกว่า Rogers LS3/5A รุ่น 15 โอห์ม ดั้งเดิมอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งฟังเพลงที่บันทึกในยุคใหม่ ต้องถือว่า Rogers LS3/5A Classic ทิ้งรุ่นเก่า ขาดลอย!!!

            สเกลเสียงดนตรี และรายละเอียดมีสัดส่วนน่าประทับใจยิ่ง ฟังแล้วได้ความรู้สึกสัมผัสเสียงดนตรีทั้งจริงจังและงดงามไปในตัว อ่อนหวานได้ จริงจังและดุดันได้ ที่สำคัญเบสทอดตัวลึกอิ่มน่าจะดีกว่า LS3/5A ทุกเวอร์ชั่นที่ผมฟังมาทั้งหมด

            ยิ่งได้ฟังจากแผ่นเสียงลองเพลย์ Rogers LS3/5A Classic ก็จะยิ่งสำแดงอิทธิฤทธิ์ได้เกินตัว ผมนึกว่ากำลังฟังลำโพงตู้ใหญ่ กว่านี้อีกสามเท่า!!!

            เสียงที่ได้ต้องถือว่าสุดยอด ถ่ายทอดความเที่ยงตรงแม่นยำในระดับมหากาฬเลยทีเดียว โทนัลบาล้านซ์แบบนี้ นึกไม่ออกเลยว่าลำโพงตู้เล็กรุ่นไหนบ้างจะให้ได้ขนาดนี้

            ในการฟังเพลง จาก Streaming ลำโพงคู่นี้ตอบรับได้อย่างยอดเยี่ยม เกินกว่าที่คิดเอาไว้มาก ให้สมดุลเสียงดีมากๆ

            Rogers LS 3/5A Classic ให้ลักษณะพิเศษในแบบ มอนิเตอร์สปีกเกอร์ของ BBC อย่างหนึ่งที่ไม่เหมือนใคร คือสามารถควบคุมย่านความถี่วิกฤติช่วง 4-8 kHz ที่มักจะเป็นปัญหากับลำโพงตู้เล็กเมื่อมีสัญญาณเสียงดนตรีโหมประโคมหรือสะวิงแรงๆ ได้อย่างดีมาก

            ผมทดลองถึงช่วงสุดท้ายในการเปรียบเทียบกับลำโพง LS3/5A ที่ผลิตและใช้ตัวขับเสียงในประเทศอังกฤษหลายเวอร์ชั่น พบว่า จุดที่ดีของ Rogers LS3/5A Classic โมเดลนี้ คือ สำหรับลำโพงทุกเวอร์ชั่น ล้วนมีเสียงในแนวเดียวกัน ให้ความถูกต้องเป็นเลิศ แต่ Rogers LS3/5A Classic จะเป็นรุ่นที่ให้ไดนามิคเร้นจ์ดีที่สุด เสียงเปิดสะอาดหลุดตู้ที่สุด กว่าทุกเวอร์ชั่นจริงๆ

            Rogers LS3/5A Classic ย่อมไม่ใช่ลำโพงเล็กที่ดีที่สุดในโลก อย่างแน่นอนครับ ด้วยสนนราคาแสนกลางๆ ของลำโพงย่อมเผชิญหน้าคู่แข่งมากมาย

            แต่ถ้าวัดกันที่ “ความแม่นยำสมจริง” ของเสียงแบบมอนิเตอร์ที่น่าอัศจรรย์แล้วละก็ มันคือลำโพงที่นำพาคุณกลับคืนมาสู่ความจริง ไม่เลอะเทอะเลื่อนเปื้อน ไม่แสดงบุคลิกเอาอกเอาใจผู้ฟัง มันจะบอกแค่ ความจริงอย่างยิ่ง กับคุณ อย่างไม่เบี่ยงเบนแม้แต่นิดเดียว

หมายเหตุเล็กน้อย***  สำหรับคนที่จะแสวงหา AB1 ตู้ซับวูฟเฟอร์มาใช้งานร่วมด้วย จากการทดสอบใช้งานกับ Rogers LS3/5A Classic ขอบอกตรงๆ ว่า ไม่รอดครับ ถ้าจะเอามาวางซ้อนกันเพื่อขยายเสียงต่ำ ผมว่ามันทำให้ “เสียมากกว่าได้” ทำให้เบสสวยๆ แต่เดิมขุ่นมัวเปล่าๆ

            นอกจากเซ็ตอัพแยกตู้ วางห่างเป็นเงาด้านหลัง LS3/5A ตามคำแนะนำ คุณ Joseph Ki จะดีกว่า หรือไม่ก็หาแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ชั้นดีมาจูนเข้ากันจะเหมาะกว่า

            ผมทราบว่า Rogers ออกแบบ มาแล้วคือรุ่น AB3A Active Subwoofer 

            อีกวิถีทางหนึ่งคือ จัดเอา Rogers LS3/5A Classic มา Stack ซ้อนกัน สองตู้ต่อแชนแนล น่าจะเลิศกว่าเลยละครับ เท่าที่ผมเคยใช้งานมาก่อน ระบบนี้ จะเพิ่มเวทีเสียง พลังเสียง Full อย่างน่าประทับใจขีดสุดจริงๆ

            วันนี้การกำเนิดใหม่ของ Rogers LS3/5A Classic เป็นการสร้างความตื่นเต้นในตลาดออดิโอไฟล์ ระดับปรากฏการณ์ เหมือนหยุดเวลาไว้ชั่วครู่ให้เราเกิดความคิดและเหตุผล

           ใช่ เราอาจเดินทางไปกับทะเลลำโพงมากมายหลายรูปแบบมาแล้ว สักวันคุณอาจรู้สึกเหนื่อยล้า อยาก “ล้างหู” วันนั้นคือวันของ Rogers LS3/5A Classic โดยแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นออดิโอไฟล์ระดับไหน ควรมีเป็นลำโพงคู่ชีวิต สักคู่หนึ่งครับ ขอยืนยัน!

Rogers LS3/5A Classic ราคาคู่ละ 150,000.- บาท (ขึ้นกับสีผิวของลำโพงด้วย)

ติดต่อสอบถามเกี่ยวกับสินค้า หรือทดลองฟังได้ที่

ร้าน​ Msound​  โทร. 096-978-7424​

ร้าน เต่า​ ออดิโอ​ กทม.  โทร.​ 088-005-5156

ร้าน เพื่อนกันไฮไฟ​ ชลบุรี​  โทร. 081-982-0282

คุณยุ่น Mavin  โทร. 064-145-1666 

คุณสมชาย ร้าน MUSE ฟอร์จูน  โทร. 081-628-7662